สดร. โต้โผเปิดเวทีกาแล็กซีฟอรั่มครั้งแรกในไทย ดึง 8 หน่วยงานนานาชาติ ร่วมแชร์ประสบการณ์ หวังสร้างความตระหนักให้คนรุ่นใหม่สนใจดาราศาสตร์

ข่าวทั่วไป Wednesday February 25, 2015 16:55 —สำนักโฆษก

24 กุมภาพันธ์ 2558 – กรุงเทพฯ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเวทีกาแล็กซีฟอรั่ม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งแรกในไทย ดึง 8 หน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ แชร์ความรู้และประสบการณ์ พร้อมร่วมเฉลิมฉลอง 2015 ปีสากลแห่งแสงของสหประชาชาติ หวังจุดประกายสร้างความตระหนักให้คนรุ่นใหม่สนใจดาราศาสตร์

รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า “กาแล็กซีฟอรั่ม นับเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลข่าวสาร ความก้าวหน้าในวงการดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์อวกาศ กาแล็กซี จักรวาลวิทยา และสาขาที่เกี่ยวข้อง ริเริ่มโดยสมาคมหอดูดาวบนดวงจันทร์สากล (International Lunar Observatory Association : ILOA) สหรัฐอเมริกา ร่วมมือกับเครือข่ายดาราศาสตร์ในประเทศต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ ความตระหนัก และความตื่นตัวทางดาราศาสตร์สู่สาธารณชนในวงกว้าง จัดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ชิลี บราซิล อินเดีย ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดที่สิงคโปร์ ในปี ค.ศ. 2013 และ 2014 สำหรับในปี 2015 นี้ เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ) มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วยนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และผู้สนใจ ประมาณ 200 คน”

รศ. บุญรักษา กล่าวเพิ่มเติมว่า กาแลกซีฟอรั่ม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งนี้ เป็นหนึ่งกิจกรรมที่ถูกบรรจุไว้ในปฏิทินกิจกรรมขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในการประกาศเป็นปีสากลแห่งแสงของสหประชาชาติ เป็นการสร้างความตระหนักในเรื่องของแสง ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการศึกษาค้นคว้าด้านดาราศาสตร์ แสงจากวัตถุท้องฟ้า หรือกลุ่มแก๊สต่าง ๆ ในอวกาศ ล้วนแล้วแต่มีข้อมูลน่าสนใจและมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมวลมนุษยชาติ นักดาราศาสตร์จึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลที่ซ่อนไว้ในแสงจากวัตถุท้องฟ้าเหล่านี้ เพื่อการค้นพบปรากฎการณ์ใหม่ ๆ ในเอกภพ นอกจากนี้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยมีการพัฒนาวิทยาการด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติที่สามารถขับเคลื่อนและสนับสนุนการวิจัย การจัดการศึกษาและการสร้างสังคมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านการเรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์ อีกทั้งโลกในศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก ความรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้โลกก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัล สามารถเข้าถึงองค์ความรู้จากทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว ไร้ขีดจำกัด เปลี่ยนรูปแบบการอ่านในตำราเป็นการเรียนรู้และค้นคว้าผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถแสวงหาความรู้และประสบการณ์ได้หลากหลาย

กิจกรรมนี้ นับเป็นการผนึกกำลังหน่วยงานดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ 1) International Lunar Observatory Association (ILOA) - สหรัฐอเมริกา 2) องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) 3) Malaysian National Space Agency (ANGKASA) – มาเลเซีย 4) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) 5) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) 6) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา 7) กองทัพอากาศ 8) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และ 9) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีผู้ทรงคุณวุฒิของแต่ละหน่วยงานร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น การศึกษา สำรวจ และโครงการเกี่ยวกับกาแล็กซี จากหน่วยงาน ILOA และวิทยาการอวกาศและเทคโนโลยีของประเทศมาเลเซีย จาก Malaysian National Space Agency (ANGKASA) แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อต่างๆ เช่น การศึกษาดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศในศตวรรษที่ 21 โครงการเกี่ยวกับกาแล็กซี กิจกรรมวิทยาศาสตร์อวกาศของยูเนสโก วิทยาการอวกาศและเทคโนโลยีของมาเลเซีย การสำรวจโลกเพื่อความมั่นคงของสิ่งแวดล้อมและมนุษยชาติ การสำรวจดวงจันทร์ การสำรวจวัตถุใกล้โลกและขยะอวกาศ ฯลฯ

“การเป็นเจ้าภาพจัดกาแล็กซีฟอรั่ม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญที่จะให้ครู นักเรียนและผู้สนใจได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ ความก้าวหน้าในวงการดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศ จุดประกายสร้างความตระหนักในการศึกษาดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศ สร้างสังคมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 และยังเป็นการสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาวงการดาราศาสตร์ ซึ่งนอกจากเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของวงการดาราศาสตร์ไทยที่มีต่อสายตาของประเทศต่าง ๆ แล้ว ยังก่อให้เกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือที่พร้อมร่วมพัฒนา และสร้างประโยชน์ให้แก่วงการดาราศาสตร์ไทยและระดับนานาชาติอีกด้วย” รศ. บุญรักษา กล่าว

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

โทร. 053-225569 ต่อ 210, 081-8854353 โทรสาร 053-225524

Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313

E-mail: pr@narit.or.th

www.narit.or.th; www.facebook.com/NARITpage

twitter: @N_Earth

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ