หารือแนวทางการจัดทำฐานข้อมูลห้องปฏิบัติการเชิงบูรณาการทดสอบมาตรฐานสินค้าเพื่อการส่งออก

ข่าวทั่วไป Monday March 9, 2015 16:12 —สำนักโฆษก

วันที่ 5 มีนาคม 2558 เวลา 13.30 น. ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในการประชุมหารือแนวทางการจัดทำฐานข้อมูลและยุทธศาสตร์ห้องปฏิบัติการเชิงบูรณาการทดสอบมาตรฐานสินค้าเพื่อการส่งออก พร้อมด้วย รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะผู้บริหารหน่วยงาน วท. ผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมประชุมหารือดังกล่าวด้วย ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการเสนอเกี่ยวกับมาตรฐานของสินค้าในประเทศไทย จำเป็นที่ต้องมีการจัดระเบียบหรือดูแลรายละเอียดในเรื่องห้องปฏิบัติการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเพื่อการส่งออก โดยมีกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข โดยนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานงานเจ้าภาพหลักในการดำเนินการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อบูรณาการการจัดทำฐานข้อมูลห้องปฏิบัติการทดสอบในภาพรวมทั้งระบบของประเทศให้สามารถเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน และง่ายต่อการสืบค้นของผู้ใช้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ กล่าวว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ได้มีข้อเสนอ ในการแก้ปัญหาความขาดแคลนห้องปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า มีดังนี้

1. สนับสนุนงบประมาณในการลงทุนด้านเครื่องมือและบุคลลากรสำหรับห้องปฏิบัติการของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นในการตรวจสอบมาตรฐานในการส่งออก และจะดำเนินการสำรวจห้องปฏิบัติการต่างๆที่มีศักยภาพ และเพื่อการยกระดับความสามารถ เราจะต้องซื้อเครื่องมืออะไรเพิ่มเติม

2. ส่งเสริมการพัฒนาห้องปฏิบัติการที่มีอยู่ในประเทศไทยให้ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลและเป็นที่เชื่อถือของต่างประเทศ

3. เพิ่มการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs เมื่อใช้บริการทดสอบและรับรองมาตรฐานสากลจากห้องปฏิบัติการในสังกัดหน่วยงานภาครัฐและมหาวิทยาลัยต่างๆ

4. จัดตั้งศูนย์บริการด้านข้อมูล การให้คำแนะนำ การให้บริการการทดสอบมาตรฐานสินค้าและการออกเอการรับรองมาตรฐานแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service Center)

การประชุมหารือดังกล่าว มีประเด็นในการประชุม ดังนี้

1.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มีการดำเนินการจัดทำระบบสืบค้น โดย 6 หน่วยงานภายในกระทรวง ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สป.) กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ(มว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์แลเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.)สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.) ที่ให้บริการเกี่ยวกับระบบและห้องปฏิบัติการทดสอบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ภาคเอกชน และขยายขอบเขตการให้บริการนอกเหนือจากรการบริการทดสอบ โดยให้มีการส่งต่อการทดสอบมาตรฐานสินค้าได้ทั้งภายในหน่วยงานแลภายนอกหน่วยงาน รวมทั้งวางแผนการพัฒนาให้เป็นศูนย์ One Stop Service เพื่อให้การดำเนินงานมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยให้มีการรวบรวมฐานข้อมูนไว้อยู่ที่ส่วนกลาง

2. ควรสนับสนุนให้เกิดการใช้บริการห้องปฏิบัติการและการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าของภาคเอกชนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานที่มากขึ้น และลดบทบาทห้องปฏิบัติการของภาครัฐให้เป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลการดเนินการห้องปฏิบัติการของภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการแข่งขันของห้องปฏิบัติการทดสอบและนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพเพื่อรองรับความต้องการทดสอบมาตรฐานสินค้าของผู้ประกอบการในปัจจุบันได้

3. ควรให้ห้องปฏิบัติการทดสอบต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศไทย ต้องจดแจ้งขอขึ้นทะเบียน ด้านการทดสอบและการสอบเทียบกับหน่วยงานรับรองระบบงานภายในประเทศด้วย โดยให้ภาครัฐของไทยที่มีอำนาจเข้าไปดำเนินการตรวจสอบห้องปฏิบัติการต่างประเทศในกรณีที่เกิดปัญหาได้ ปัจจุบันประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการภายในประเทศ จำนวน 665 แห่ง ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสากลสำหรับห้องปฏิบัติการการสอบเทียบ จาก 3หน่วยงานที่เป็นผู้ตรวจประเมินระบบคุณภาพและมาตรฐานห้องปฏิบัติการ (กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) อย่างไรก็ตามควรผลักดันให้ห้องปฏิบัติการต่างๆ ที่ให้บริการทดสอบทั้งตามมหาวิทยาลัยและเอกชน ผ่านการรับรองความสามารถของห้องปฏิบัติดารตามมาตรฐานเพิ่มขึ้นและให้ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานรับรองอย่างถูกต้อง

4. ควรให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านมาตรฐาน เช่น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นผู้รับชอบในการประกาศมาตรฐานทั่วไป และมาตรฐานแบบบังคับ ส่วนห้องปฏิบัติการจะมีเจ้าหน้าที่ทำการทดสอบผลิตภัณฑ์หรือสินค้าว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ รวมถึงการการพัฒนาวิธีการทดสอบให้มีมาตรฐานจนเป็นที่ยอมรับแล้วนำเสนอ สมอ. เพื่ออกเป็นมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์

ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ

ภาพและวีดีโอ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์, นางสาวพจนพร แสงสว่าง

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทร. 02 333 3727-3732, โทรสาร 02 333 3834 E-Mail : pr@most.go.th, facebook : sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ