ดร.พิเชฐ ชวนเอกชนไทยมองอนาคต เก็บข้อมูลวัฎจักรชีวิตผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แข่งขันได้ในตลาดโลก

ข่าวทั่วไป Tuesday March 10, 2015 16:54 —สำนักโฆษก

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน “Life Cycle Assessment in Policy - Sustaibility and Trade” ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ เช้าวันนี้ (9 มีนาคม) ตามความร่วมมือของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับสำนักงานคณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย (กกร.) โครงการสิ่งแวดล้อมขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme หรือ UNEP) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวโน้มและทิศทางการประยุกต์ใช้ เทคนิคการประเมินวัฎจักรชีวิต หรือ Life Cycle Assessment (LCA) อันเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลกมาในการกำหนดนโยบายการเติบโตที่ยั่งยืนและการค้าขององค์กรและประเทศต่างๆ ครอบคลุม 5 ด้านคือ พลังงานชีวภาพ สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว อาคารเขียว และการเติบโตที่เป็มมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศบราซิล เนเธอแลนด์ สวีเดน มาเลเซีย ไทย และ UNEP มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในช่วงหนึ่งของการ ปาฐกานโยบายและแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สู่การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย

ดร.พิเชฐ พูดถึง LCA ว่า มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว กฎระเบียบข้อบังคับทางการค้าระหว่างประเทศ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย LCA เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะให้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่การผลิตอย่างครบวงจร ทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ พลังงานและสารเคมีที่เป็นปัจจัยนำเข้าในกระบวนการผลิต ทั้งกระบวนการผลิต การนำไปใช้ และการกำจัดของเสีย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการขนส่งสินค้า อีกทั้งยังรวมถึงผลผลิตที่ปลดปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อม น้ำ และขยะ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญสำหรับการเลือกใช้สินค้าของผู้บริโภคในตลาดโลก จากนี้ไปการจำหน่ายสินค้าและการบริการต้องระบุตัวเลขเชิงสมรรถนะของผลิตภัณฑ์ องค์กร และประเทศ รวมถึงมลพิษและทรัพยากรที่ใช้อย่างครบถ้วน เพราะเป็นสัญญาณสำคัญของการส่งออกผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นเรื่องของการปลูกฝังค่านิยมให้คนใช้ทรัพยากรธรรมชาติของโลกที่มีอยู่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การอนาคตที่ยั่งยืนต่อไป

สุดท้าย ดร.พิเชฐ เชิญชวนภาคเอกชนให้มาร่วมมือกับภาครัฐในการสร้างความตระหนักกับสังคมเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เพราะ LCA เป็นกลไกสำคัญของตลาดการค้าระหว่างประเทศ ผลิตภัณฑ์จะขายได้หรือไม่ในอนาคต จะเริ่มต้นที่ข้อมูลที่รัฐและเอกชนทำร่วมกัน นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่เพียงแต่ของประเทศไทย แต่รวมถึงความเข้มแข็งของกลุ่มประเทศอาเซียนในอนาคต

ดร.พิเชฐ กล่าวอีกว่า วันนี้เป็นการหารือกันเพื่อที่จะลงไปดูในรายละเอียดว่าวิธีการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะสามารถตอบสนองการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมของโลก แต่ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องการค้า จากนี้ไปการผลิตสินค้าหรือการให้บริการใดๆ จะต้องมีการระบุถึงปริมาณของมลพิษหรือปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ เราก็จำเป็นที่จะต้องรีบทำ เพราะในอนาคตจะส่งออกลำบาก หากเราไม่มีข้อมูลพวกนี้ การที่จะทำตรงนี้ได้จะต้องมีความเข้าใจ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ได้ทำเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการไปดูข้อมูลตั้งแต่ต้นจนจบของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่วัสดุดิบ การขนส่งวัสดุดิบ การผลิตและบรรจุภัณฑ์ของโรงงาน ล้วนแต่มีมลภาวะที่จะต้องรู้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยี และมีระบบการตรวจสอบที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดการยอมรับสินค้าส่งออก การทำความเข้าใจกับสหประชาชาติ และสหภาพยุโรป จะเป็นจุดตั้งต้นจุดหนึ่ง นอกเหนือจากการทำความเข้าใจกับรายประเทศที่จะค้าขายกับเราในอนาคต

ผู้เขียนข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

ถ่ายภาพ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์ และ นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ