รมว.ทส.ให้การต้อนรับ นายมาร์ก แอนดรูว์ เจฟฟรีย์ เคนต์ (Mr. Mark Andrew Geoffrey Kent) เอกอัครราชทูตแห่งสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Friday March 13, 2015 14:07 —สำนักโฆษก

เมื่อเร็วๆนี้ ณ ห้องรับรองชั้น 20 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้การต้อนรับนายมาร์ก แอนดรูว์ เจฟฟรีย์ เคนต์ (Mr. Mark Andrew Geoffrey Kent)เอกอัครราชทูตแห่งสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย และร่วมหารือในประเด็นสำคัญ ได้แก่ ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีในการเปลี่ยนขยะของเสียเป็นพลังงาน และความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า

ในการนี้ เอกอัครราชทูตฯ แสดงความยินดีกับประเทศไทยที่ได้มีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมการค้างาช้างได้สำเร็จในระยะเวลาอันสั้น และถือโอกาสเชิญรัฐมนตรีว่าการฯ เข้าร่วมการประชุม Boswana Conference ซึ่งเป็นการประชุมเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการลักลอบการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมาย โดยมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 มีนาคม 2558 ณ เมืองเคซาน สาธารณรัฐบอตสวานา จากนั้นได้หารือกันถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้

1. การแก้ไขปัญหาการลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมาย ซึ่งประเทศไทยมีความพยายามอย่างสูง โดยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและการประชาสัมพันธ์ในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการจัดทำป้ายห้ามซื้อและนำออกนอกประเทศที่สนามบินทุกแห่ง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบว่าไม่สามารถนำงาช้างและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างออกนอกประเทศได้ หรือการอบรมมัคคุเทศก์เพื่อให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวก็ตาม

2.ขอให้สหราชอาณาจักรประสานแจ้งประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหาร (Standing Committee) ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) สนับสนุนและเข้าใจเจตนารมณ์การดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบค้างาช้างที่ผิดกฎหมายของประเทศไทยอย่างเป็นธรรม โดยประเทศไทยมีกำหนดจะต้องส่งรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 2 ต่อสำนักเลขาธิการ CITES ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2558 ซึ่งประเทศไทยก็จะดำเนินการในเรื่องของการแก้ไขปัญหางาช้างอย่างจริงจังสืบเนื่องต่อไปด้วย

3. เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซ เรือนกระจกร้อยละ 7-20 จากระดับการปล่อยในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ. 2005) โดยกำหนดให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) โดยจะดำเนินการในภาคคมนาคมและขนส่ง ซึ่งจะดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีซึ่งจะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิต จึงส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้ ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสอันดียิ่งที่ประเทศไทยจะได้มีความร่วมมือกับสหราชอาณาจักรในเรื่องดังกล่าวต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ