ก.วิทย์ฯจับมือมหาดไทย ระดมรองผู้ว่าฯทั่วประเทศ ขับเคลื่อนงานด้าน วทน.สู่แผนพัฒนาจังหวัด

ข่าวทั่วไป Friday March 20, 2015 17:54 —สำนักโฆษก

โรงแรมรามาการ์เด้น 19 มีนาคม/พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยานและแสดงความยินดี ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง การพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ระหว่าง กระทรวงมหาดไทย กับ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยมีนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และรศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นผู้ลงนาม โดยความร่วมมือในเรื่องดังกล่าว สืบเนื่องจาก มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 เห็นชอบให้ขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา ชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมของประชาชนในพื้นที่ในแต่ละจังหวัด อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกันนี้ยังได้มีการจัดนิทรรศการโดยนำผลงานเด่นของหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มานำเสนอ รวมทั้งเปิดเวทีโดยให้ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ และผู้แทนจากภาคเกษตรกร บอกเล่าถึงความสำเร็จจากการนำวทน.ลงไปช่วยในแต่ละพื้นที่

ดร.พิชัย กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมากำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เน้นการเข้าใจ การเข้าถึงและการพัฒนาภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 โดยปฏิรูปประเทศบนพื้นฐานของปัญหาและความต้องการของประชาชน ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และพัฒนา การสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าให้กับวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ในชุมชน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรรม สุขภาพ พลังงานและความมั่นคง โดยใช้กลไกของรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ทำหน้าที่ผู้บริหารงานวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง (Provincial Chief Science Officer : PCSO) ขับเคลื่อนการดำเนินการร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อผลักดันงานด้าน วทน. ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่

พลเอก อนุพงษ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการเรื่องการบริหารงานด้าน วทน. ในพื้นที่จังหวัดให้เป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งภัยแล้ง ภัยหนาว และน้ำท่วม ปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ การอนุรักษ์ป่าชายเลน การจัดการขยะ และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก และผลิตภัณฑ์ชุมชน ในการแก้ปัญหาเหล่านี้บุคลากรของกระทรวงมหาดไทยจำเป็นต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำเพื่อใช้ในการตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆได้อย่างเหมาะสม ใช้จุดแข็งของกระทรวงมหาดไทยที่มีความพร้อมด้านบุคลากรที่กระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ สามารถบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการได้ เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งภาคเอกชนและหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

ด้าน ดร.พิเชฐ กล่าวว่า หนึ่งในแผนปฏิรูปของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คือการใช้ประโยชน์จาก วทน. เพื่อสังคมและชุมชน ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวจะยึดหลักการดำเนินงานที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่รับผิดชอบงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด เป็นผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มอบหมายที่ปรึกษาด้าน วทน. พัฒนาจังหวัดและนำเสนอข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ตลอดจนแนวทางการพัฒนาจังหวัดด้วย วทน. ต่อ PCSO และหน่วยงานในจังหวัด โดยแต่งตั้งที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ประจำจังหวัด หรือ PSA (Provincial Science Advisor) โดยมอบหมายหน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และเครือข่ายในพื้นที่สนับสนุนงานด้าน วทน. ของจังหวัดโดยเฉพาะศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ประจำภูมิภาคทั้ง 4 ภาค ที่เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายมีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ต้องสร้างเครือข่ายของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้ประชาชนได้ตระหนักถึง วทน. และนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้บริหารจัดการตนเองด้วยความรู้ได้ อันนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามแนวทางของท่านนายกรัฐมนตรี

นายวิบูลย์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย มีความยินดีที่จะร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการบูรณาการการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดร่วมกัน ซึ่งนับเป็นความสำเร็จและความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่ง ของการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือในบันทึกข้อตกลง ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ลงไปพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย ที่มีบทบาทหน้าที่ในการบูรณาการด้านการพัฒนา และแก้ไขปัญหาในเชิงพื้นที่ในส่วนภูมิภาค และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนการทำให้ประชาชนมีความสุข มีความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนในอนาคต

รศ.ดร.วีระพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีบทบาทในการขับเคลื่อนงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ลงสู่พื้นที่จังหวัด ชุมชนและท้องถิ่น โดยนำความรู้ด้าน วทน. เผยแพร่ลงสู่พื้นที่และสร้างความตระหนักผ่านกลไกลการขับเคลื่อนงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้

1. Geographical Area – based Mapping เป็นแผนงาน/โครงการในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ในระดับพื้นที่ (Area – based) เพื่อใช้ วทน. พัฒนาจังหวัดให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา ชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมของประชาชนในพื้นที่จังหวัด

2. กลไกการดำเนินงานของ วท. โดยแบ่งเป็น (1) งานของ วท. ระดับพื้นที่ตามภารกิจหลักของหน่วยงานในสังกัดทั้งหมด 15 หน่วย (2) คลินิกเทคโนโลยี ที่มีพื้นที่ให้บริการจำนวน 70 เครือข่าย (138 แห่ง) เพื่อบริการให้คำปรึกษาถ่ายทอดเทคโนโลยี เผยแพร่ความรู้ วิจัยและพัฒนา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (3) อาสาสมัครวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (อสวท.) มีหน้าที่เผยแพร่ความรู้ด้าน วทน. (4) ศูนย์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Knowledge Center, STKC) (5) อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มีเครือข่ายอุทยานฯ ที่ร่วมดำเนินการโครงการทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ, อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ (6) โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (Industrial Technology Assistant Program : iTAP) มีเครือข่ายทั้งหมด 10 แห่ง ได้แก่ จ.ปทุมธานี, ม.เชียงใหม่, ม.ขอนแก่น, ม.มหาสารคาม, ม.เทคโนโลยีสุรนารี, ม.อุบลราชธานี, ม.สงขลานครินทร์, ม.วลัยลักษณ์, ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันไทย-เยอรมัน (7) เครือข่ายภูมิภาคของหน่วยงานในสังกัด วท. (8) คาราวานวิทยาศาสตร์ (9) หมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 67 จังหวัด 309 หมู่บ้าน (10) ความร่วมมือระหว่าง วท. กับ มท. ในการดำเนินงาน ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนาจังหวัดด้วย วทน. โดยการสร้างความตระหนักและพัฒนาการเรียนรู้ วิจัยและพัฒนานวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสนับสนุน พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิอากาศ

3. แนวทางการขับเคลื่อนงานด้าน วทน. สู่การปฏิบัติ โดย วท. ร่วมกับ มท. จัดตั้งคณะทำงานพัฒนาจังหวัดด้วย วทน. โดยมีรองผู้ว่าฯ ทำหน้าที่ผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง (PCSO) ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ประจำจังหวัด (PSA) และหน่วยงานในจังหวัดที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยปลัดกระทรวงทั้ง 2 กระทรวง เป็นประธานคณะกรรมการร่วม เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานพร้อมกำหนดกรอบแนวทางการผลักดันแผนงานด้าน วทน. ร่วมกัน และบรรจุในแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเชื่อมโยงการดำเนินงานด้าน วทน. ในระดับพื้นที่จังหวัดต่อไป

ภาพข่าวและวีดิโอโดย : นายรัฐพล หงสไกร และ นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์

ประสานงานได้ที่ : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ