ก.เกษตรฯ ร่วมกับ ก.การคลัง แก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ข่าวทั่วไป Tuesday March 31, 2015 14:08 —สำนักโฆษก

วันนี้ (31 มี.ค.58) เวลา 14.15 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายวิสุทธ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรและภาคครัวเรือน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

จากนี้ต่อไปกระทรวงเกษตรฯ จะเน้นนโยบายการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินซึ่งถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากทั้งในภาคเกษตรและภาคครัวเรือ รวมทั้งจะมีการปรับโครงสร้างเรื่องของยางพารา ข้าว ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ และการสร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์ ตลอดจนการใช้กฎหมายซึ่งเกี่ยวพันกับ IUU และการออกกฎหมายเพื่อช่วยเหลือรายได้สวัสดิการให้กับเกษตรกร

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการแก้ไขปัญหาหนี้สินนั้น กระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมกับกระทรวงการคลัง ดำเนินการโดยเน้นการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ที่อยู่กับสถาบันการเงิน โดยเฉพาะที่อยู่กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขณะเดียวกันจะมีการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ที่เกิดขึ้นกับส่วนราชการ เพราะส่วนราชการของกระทรวงเกษตรฯ จะมีกองทุนอยู่หลายกองทุนและมีจำนวนเงินหลายหมื่นล้านบาท

สำหรับวันนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องหนี้ของเกษตรกรที่มีต่อ ธ.ก.ส. โดยข้อมูลปัจจุบัน (ณ วันที่ 31 มกราคม 2558) มีลูกค้า ธ.ก.ส. อยู่ประมาณ 3.52 ล้านราย มีจำนวนหนี้สิน ประมาณ 766,000 ล้านบาท ซึ่งเฉลี่ยหนี้ต่อรายประมาณ 217,000 บาท โดยเป็นหนี้ที่มีปัญหาเรื่องการชำระหนี้ ประมาณ 9.24% คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 10.03% ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวได้เกิดการสะสมมาตั้งแต่อดีต รัฐบาลชุดนี้จึงต้องการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งสืบเนื่องจากราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ ประกอบกับสภาพภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงไปจนส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด และมีการขาดแคลนแรงงานทางภาคการเกษตร เป็นต้น ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้รายได้เกษตรกรน้อยลงขณะที่หนี้สินก็เพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรตรงนี้ก็เพื่อต้องการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย รวมทั้งเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

สำหรับโครงการที่ ธ.ก.ส. ดำเนินการแบ่งเป็น 3 โครงการย่อย ได้แก่ 1) การปลดหนี้ 2) ปรับโครงสร้างหนี้ และ3) การขยายเวลาการชำระหนี้ ทั้งนี้ในส่วนของการปลดชำระหนี้จะมีการพิจารณาเกษตรกรต้องมีคุณสมบัติไม่มีศักยภาพและมีเหตุที่ไม่ปกติเกิดขึ้นในชีวิต เช่น การเสียชีวิต ทุพพลภาพ การเจ็บป่วยเรื้อรังจนไม่สามารถที่จะประกอบอาชีพได้ตามปกติ ซึ่งในกลุ่มดังกล่าวจากที่ ธ.ก.ส. ได้พิจารณาแล้วมีจำนวน ประมาณ 28,000 ราย มีหนี้สินประมาณ 4,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส.จะดำเนินการจำหน่ายหนี้ออกไป ขณะที่กลุ่มที่ 2 เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งมีศักยภาพค่อนข้างต่ำแต่ยังมีความสามารถในการประกอบอาชีพ และเป็นหนี้โดยสุจริตและมีความจำเป็น โดยมีจำนวนประมาณ 340,000 ราย มีหนี้สินจำนวน 48,000 ล้านบาท ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ ธ.ก.ส. ดำเนินการโดย 3 ปีแรกไม่ต้องชำระเงินต้น แต่ให้ชำระดอกเบี้ยตามปกติ หลักจากนั้น ครบ 3 ปีก็จะให้ปรับอีกตามศักยภาพแต่ไม่เกิน 10 ปี เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งก็จะพิจารณาขยายระยะเวลาให้ตามความจำเป็น นอกจากการปรับโครงสร้างหนี้ให้แล้วยังจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับเกษตรกลุ่มนี้ด้วยโดยให้สินเชื่อใหม่ ไม่เกินรายละ 50,000 บาท มีวงเงินสินเชื่อประมาณ 15,000 ล้านบาท

กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่เกษตรกรมีศักยภาพ ซึ่งมีประเด็นในเรื่องของการงดทำนาปรัง หรือราคายางตกต่ำ โดยมีจำนวนประมาณ 450,000 ราย มีหนี้สินประมาณ 64,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีการขยายระยะเวลาชำระหนี้สินให้ตามศักยภาพของเกษตรกรรายย่อยแต่ละราย และมีการงดคิดเบี้ยปรับ แต่ยังมีการคิดดอกเบี้ยตามอัตราปกติ รวมทั้งจะมีการให้สินเชื่อเพิ่มเติมไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย มีวงเงินประมาณ 35,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2558 – 31 มีนาคม 2559

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ