ก.วิทย์ฯ ร่วมแก้วิกฤตภัยแล้ง ส่งเทคโนโลยีดาวเทียมติดตามจุดเกิดไฟป่าทั่วประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday March 25, 2015 15:10 —สำนักโฆษก

กระทรวงวิทย์ฯ พร้อมร่วมมือทุกหน่วยงานรับมือภัยแล้ง ส่งเทคโนโลยีดาวเทียมติดตามจุดเกิดไฟป่าทั่วประเทศ พร้อมใช้เทคโนโลยีนาโน ผลิตเครื่องกรองน้ำพลังแสงอาทิตย์คืนน้ำสะอาดให้ประชาชนในภาวะวิกฤตและผลิตเครื่องกรองน้ำกร่อยรับมือสถานการณ์ น้ำเค็มรุกแม่น้ำสายหลักช่วงฤดูแล้ง

อมารีวอเตอร์เกท 25 มีนาคม / ดร.พิเชฐ ดรุงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และ ศ. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมแถลงข่าวสนับสนุนแก้ปัญหาภัยแล้งโดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ และเทคโนโลยีนาโนเทคเพื่อผลิตน้ำสะอาดช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤต

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายของรัฐบาลคือการบริหารจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติอย่างเป็นเอกภาพในทุกมิติ ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยมีการบูรณาการแผนงานและงบประมาณร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อน มีความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ โดยกำหนดกลไกในการบริหารจัดการน้ำและการเตือนภัย ซึ่ง GISTDA เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของไทย ดาวเทียมไทยโชต และดาวเทียมดวงอื่นๆ เพื่อเป็นข้อมูลตัดสินใจในการวิเคราะห์เพื่อการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ปัญหาไฟป่าและหมอกควันเกิดขึ้นทุกปี ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อบูรณาการ ติดตามและบรรเทาร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ นำโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงมหาดไทย โดยในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รับผิดชอบในเรื่องของการจัดทำข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ สนับสนุนภาพถ่ายดาวเทียม ในพื้นที่ที่เกิดความร้อนสูงบริเวณจุด Hot spot ซึ่งเป็นที่กำเนิดของไฟป่า และได้นำไปใช้ประโยชน์ร่วมกับภาพถ่ายทางอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะให้ฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และอ้างอิงถึงกันได้ เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์ที่ไม่เลื่อมล้ำหรือผิดเพี้ยนไปจากความจริง

ขณะที่ ดร.อานนท์ กล่าวเสริมว่า GISTDA ได้ทำงานร่วมกับพื้นที่ที่ประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างต่อเนื่อง โดยมีศูนย์ปฏิบัติการทางด้านไฟป่า ใน 6 จังหวัด ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก และแม่ฮ่องสอน ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยจัดบุคลากรของ GISTDA ไปประจำที่จังหวัดภาคเหนือที่มีความเสี่ยงสูงจังหวัดละ 2 คน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก และแม่ฮ่องสอน เพื่อสนับสนุนภูมิสารสนเทศเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าของจังหวัด

“GISTDA ถือเป็นหน่วยงานหลักในการใช้ดาวเทียมเพื่อติดตามจุดที่เกิดไฟป่าทั่วประเทศเป็นประจำทุกวัน นอกจากนี้ยังได้พัฒนาระบบแผนที่ความเสี่ยงของการเกิดไฟป่าได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่ใช้ประกอบการวางแผนการจัดการเชื้อไฟ การจัดทำแนวกันไฟและการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เป็นการล่วงหน้า โดยร่วมกับศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภูมิภาค ภาคเหนือ (ศวภ 1) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงการใช้งานข้อมูลภูมิสารสนเทศ โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจาก 10 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก และลำปาง เข้าร่วม นอกจากนี้ยังให้บริการแผนที่แบบออนไลน์และข้อมูลความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวของกับไฟป่าและหมอกควัน ที่เว็บไซต์ http://fire.gistda.or.th” ผอ.GISTDA กล่าว

ด้าน ศ. นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า ศูนย์นาโนเทคมีโครงการวิจัยมุ่งเป้าในด้านน้ำสะอาด ที่ได้รับการยอมรับทั้งในด้านวิชาการและด้านสังคม โดยทีมวิจัยได้พัฒนาวัสดุกรองน้ำและเสริมเทคโนโลยีนาโนเข้าไปเพื่อให้ระบบกรองมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้น้ำสะอาดตามมาตรฐานน้ำดื่มของกระทรวงสาธารณสุข จนกระทั่งออกมาเป็นเครื่องผลิตน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเทคโนโลยีไส้กรองนาโน สามารถผลิตน้ำดื่มในสภาวะวิกฤตอุทกภัยและภัยพิบัติต่างๆ ได้ โดยนาโนเทคและสภากาชาดไทยได้ร่วมกันพัฒนานำเครื่องผลิตน้ำดื่มนี้มาใช้สำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ดีมาก กำลังการผลิตประมาณ 200 ลิตร ต่อชั่วโมง สำหรับผู้ประสบภัยได้มากกว่า 1,000 คนต่อวัน ซึ่งเครื่องดังกล่าว ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้สภากาชาดไทย นำไปใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์

สำหรับจุดเด่นของไส้กรองนาโน นั้น ศ. นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า สามารถฆ่าเชื้อที่ผิวของไส้กรองได้ จะทำให้อายุการใช้งานของไส้กรองนาโนนานขึ้นกว่าไส้กรองน้ำทั่วไปประมาณเท่าตัว และยังช่วยลดปัญหาการดูแลรักษาไส้กรอง เนื่องจากไม่มีเมือกหรือตะไคร่น้ำมาเกาะบนพื้นผิวของไส้กรอง ที่สำคัญเทคโนโลยีนี้ เป็นเทคโนโลยีการตรึงอนุภาคนาโนซิลเวอร์ลงบนไส้กรอง ทำให้มั่นใจได้ว่า จะไม่มีอนุภาคนาโนหลุดออกมา

“ขณะนี้เทคโนโลยีไส้กรองนาโน ที่ได้รับการพัฒนาโดยศูนย์นาโนเทคพัฒนา ขณะนี้ได้ถ่ายทอดให้กับภาคเอกชนแล้ว จึงอยากเชิญชวนหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีนี้ไปขยายผลในพื้นที่ภัยแล้ง โดยบูรณาการทั้งคนและงบประมาณร่วมกัน ให้สามารถผลิตเครื่องผลิตน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเทคโนโลยีไส้กรองนาโนเพิ่มจำนวนมากขึ้น ให้เพียงพอต่อการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งมากกว่า 30 จังหวัดในขณะนี้” ผอ.ศูนย์นาโนเทค ระบุ

ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีเครื่องกรองน้ำดื่มจากน้ำกร่อยด้วยเทคโนโลยีไส้กรองนาโน ซึ่งศูนย์นาโนเทค ได้พัฒนาขึ้น ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) เพื่อแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกแม่น้ำบางปะกงในช่วงฤดูแล้ง สามารถกรองน้ำกร่อยหรือน้ำเค็ม ให้เป็นน้ำดื่มที่มีคุณภาพตามมาตรฐานได้ โดยใช้เทคโนโลยีนาโน ผลิตไส้กรองนาโน ซึ่งมีจุดเด่นในการยืดอายุการใช้งานของไส้กรองรีเวอร์สออสโมซิสซึ่งมีรูพรุนเล็กมาก ดังนั้นโมเลกุลของน้ำเท่านั้นที่ผ่านเข้าไปได้ เครื่องดังกล่าวสามารถกรองน้ำกร่อยให้เป็นน้ำดื่มที่มีคุณภาพตามมาตรฐานได้ ที่สำคัญเป็นเครื่องกรองน้ำดื่มจากน้ำกร่อยเคลื่อนที่ได้เหมาะสำหรับการขนย้ายไปยังลุ่มน้ำต่างๆที่ประสบภาวะวิกฤตน้ำเค็ม

“ศูนย์นาโนเทคได้เติมระบบกรองเข้าไปเพิ่มในเครื่องกรองน้ำกร่อย เพื่อเสริมประสิทธิภาพการกรองน้ำกร่อย คือ ไส้กรองนาโนที่มีความสามารถในการการฆ่าเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ไม่ไปอุดตันที่ไส้กรอง ทำให้ใช้แรงดันน้ำน้อยลงในระบบกรองน้ำ จึงประหยัดพลังงานขึ้น อายุการใช้งานของไส้กรองประมาณ 6 เดือน สามารถกรองน้ำกร่อยได้ต่อเนื่องมีกำลังการผลิตประมาณ 200 ลิตร ต่อชั่วโมงเพียงพอต่อประมาณการบริโภคน้ำของประชาชน 1,000 คนต่อวัน” ผอ.ศูนย์นาโนเทค กล่าวและว่า ศูนย์นาโนเทค ได้ทำการพัฒนาระบบกรองน้ำกร่อยแบบถาวร เพื่อใช้ในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวของน้ำเค็มมากๆ เช่น โรงพยาบาลพุทธโสธร โดยได้ทำการติดตั้งไส้กรองนาโน เพื่อเสริมคุณภาพให้ระบบการกรองน้ำหลักที่มีอยู่แล้วมีประสิทธิภาพในการกรองน้ำสะอาดได้นานขึ้นด้วย

ข่าวโดย : ทีมโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ประสานงานได้ที่ : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

อีเมลล์ : pr@most.go.th

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ