กระทรวงมหาดไทย ขานรับนโยบายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาล เน้นย้ำ 7 มาตรการเข้ม ให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดบูรณาการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่

ข่าวทั่วไป Friday April 3, 2015 16:05 —สำนักโฆษก

วันนี้ (3 เม.ย. 58) พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาล โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศวาระแห่งชาติ เรื่อง การป้องกันและปราบปรามค้ามนุษย์และมอบนโยบายในการปฏิบัติราชการให้แก่หัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง และผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด โดยเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง

กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานที่จะต้องนำนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จังหวัดทำหน้าที่บูรณาการการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้กำหนดมาตรการสำคัญ 7 ด้าน เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ยึดถือปฏิบัติและบูรณาการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน (Demand/Supply) อย่างเป็นระบบและเป็นตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยมีมาตรการที่สำคัญ 7 ด้าน ดังนี้

1) มาตรการป้องกัน ให้จังหวัดดำเนินการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) และเร่งดำเนินการจดทะเบียนแรงงานประมงใน 22 จังหวัดชายทะเลให้ถูกต้องครบถ้วน รวมทั้งการให้สถานะที่ถูกต้องกับชนกลุ่มน้อยและบุคคลไร้สัญชาติซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน และจะต้องเร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านกลไกของรัฐ สถานประกอบการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมเป็นกลไกเฝ้าระวังปัญหาการค้ามนุษย์ในชุมชนและสถานประกอบการทุกประเภท

2) มาตรการสกัดกั้น เน้นป้องกันบริเวณแนวชายแดน เส้นทางเดินทางเข้าพื้นที่ชั้นใน โดยการจัดตั้งจุดสกัดตามเส้นทางต่างๆ ที่คาดว่าขบวนการนำพาผู้หลบหนีเข้าเมืองจะใช้เป็นเส้นทางลำเลียงคนหลบหนีเข้าเมืองส่งไปยังจังหวัดต่างๆ หรือผ่านต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งสกัดกั้นการหลบหนีเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติทั้งทางบก ทางน้ำ และทางทะเล และให้จัดตั้งชุดปฏิบัติการระดับตำบล โดยพนักงานฝ่ายปกครองทำหน้าที่สำรวจผู้หลบหนีเข้าเมืองที่อยู่ในพื้นที่และจัดทำฐานข้อมูลให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน

3) มาตรการปราบปราม ให้ดำเนินการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะแรงงานกลุ่มเสี่ยง อาทิ แรงงานประมง แรงงานในโรงงาน สถานประกอบการ และแรงงานภาคการเกษตร และต้องไม่ให้มีการค้ามนุษย์ในรูปแบบการค้าประเวณีเด็ก การบังคับค้าประเวณี การนำคนมาขอทาน หากพบการกระทำผิดให้ดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุด

4) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเข้าถึงเครือข่ายค้ามนุษย์ในพื้นที่ โดยใช้มาตรการด้านการข่าว เพื่อขยายผลไปสู่ตัวการ นายทุน เครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์ รวมทั้งประสานการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการยึดทรัพย์ ต้องประสานข้อมูลเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด รวมทั้งสืบสวนหาข่าวตามข้อร้องเรียนและการแจ้งเบาะแสอย่างจริงจังทุกกรณี

5) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการรับแจ้งข้อมูลข่าวสารการค้ามนุษย์ โดยผ่านเครือข่ายศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและอำเภอ จัดชุดเคลื่อนที่เร็วในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ประจำตำบล หมู่บ้านและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาความร่วมมือในการเฝ้าระวังและรับแจ้งเบาะแสจากองค์กรอาสาสมัครภาคเอกชนในพื้นที่ (NGO) รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารจากภาคีเครือข่ายในพื้นที่

6) มาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ กรณีพบว่าผู้ใดเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ให้รายงานมายังกระทรวงมหาดไทยเพื่อใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองอนุญาตให้ผู้เสียหายพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับขบวนการค้ามนุษย์ และให้มีสถานที่คุ้มครองหรือที่พักพิงของผู้เสียหายและดูแลช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์ตามมาตรฐานสากล

7) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ ให้ทุกจังหวัดยึดถือและปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด โดยกำชับเจ้าหน้าที่ทุกระดับของหน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ให้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ทุกกรณี หากตรวจสอบพบให้ลงโทษทางวินัยอย่างเด็ดขาด

นอกจากนี้ ได้กำหนดมาตรการด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อรณรงค์ให้หน่วยงาน องค์กร ทุกภาคส่วน ได้รวมพลังแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดจิตสำนึกและตระหนักถึงปัญหาการค้ามนุษย์ ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของประเทศไทยที่จะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

สำหรับมาตรการด้านการแก้ไขปัญหา “กรณีการค้ามนุษย์ในกิจการประมง” เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล เข้มงวดมิให้มีการใช้แรงงานทาสในกิจการประมงและกิจการที่ต่อเนื่อง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุญาตให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงตามที่ได้กล่าวไปแล้ว รวมทั้งต้องดำเนินการควบคุมดูแลการทำประมงในพื้นที่รับผิดชอบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และกฎกติการะหว่างประเทศอีกด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง จึงได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และกลไกของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยจะมีศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด อำเภอ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง เชื่อว่าหากทุกฝ่ายและทุกหน่วยงานได้ร่วมมืออย่างจริงจังปัญหาการค้ามนุษย์จะหมดไปจากสังคมไทยอย่างแน่นอน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ