ที่ประชุม กยค.รับทราบสถานการณ์และส่งเสริมพัฒนาสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง

ข่าวทั่วไป Thursday April 9, 2015 14:36 —สำนักโฆษก

วันนี้ (9 เม.ย.58) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ (กยค) ครั้งที่ 1/2558 ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบ สถานการณ์ครอบครัวไทย ตามที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวได้รายงานว่า คณะสังคมและมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินการวิจัยเรื่อง ครอบครัวเข้มแข็งกับความขัดแย้งระหว่างงานกับครอบครัวในสังคมโลกาภิวัฒน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมและความสัมพันธ์ในครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป และมีผลทำให้ครอบครัวที่เป็นหน่วยทางชีวภาพและทางสังคมอ่อนแอลง เสี่ยงต่อการล่มสลาย ซึ่งผลการศึกษา พบว่าปัญหาของครอบครัวมีสาเหตุหลักมาจากทุกข์ต่าง ๆ ของสมาชิกครอบครัว โดยสามารถแบ่งกลุ่มปัญหาได้ 6 กลุ่ม และกลุ่มปัญหาของครอบครัวที่มากที่สุด คือ ปัญหาเกี่ยวกับบุตร รองลงมา คือ กลุ่มปัญหาหนี้สิน กลุ่มปัญหาอบายมุขในครอบครัว กลุ่มปัญหาความรุนแรงในครอบครัว กลุ่มปัญหาสภาพบ้านและสิ่งแวดล้อม กลุ่มปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว และกลุ่มปัญหาผู้ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้หรือช่วยเหลือตนเองได้น้อย

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานด้านครอบครัว ได้แก่ 1. การพัฒนากลไกการทำงานด้านครอบครัวระดับจังหวัด โดยมีการเสนอความเห็นและข้อสังเกตเกี่ยวกับมาตรการ กลไกหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวเพื่อเสนอคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวหรือคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติสนับสนุน ผลักดันให้มีการจัดทำฐานข้อมูลด้านครอบครัวระดับจังหวัด ส่งเสริมสนับสนุน บังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รณรงค์และให้ความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมครอบครัวและการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ฯลฯ

2. การพัฒนากลไกทำงานด้านครอบครัวระดับพื้นที่ นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ได้มีศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนที่ได้รับการจัดตั้งโดยการสนับสนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 6,831 ศูนย์ ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ การดำเนินงานที่ผ่านมา มีการยกระดับการทำงานของ ศพค.ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะการเป็นวิทยากรด้านครอบครัว ครอบครัวการป้องกันยาเสพติด การสำรวจวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะด้าน เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ระบบการเฝ้าระวังเพื่อการคุ้มครองเด็กมาตรฐานครอบครัวเข้มแข็ง องค์ความรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว กระบวนการไกล่เกลี่ยประนีประนอม ความเสมอภาคหญิงชายในครอบครัว การพัฒนามาตรฐานการดำเนินงาน เป็นต้น ตลอดจนผลการดำเนินงานดังกล่าว ทำให้ ศพค.มีมาตรฐานการทำงานที่ชัดเจนขึ้นโดยพิจารณาการมีเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาครอบครัวในชุมชน การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัวอย่างต่อเนื่อง มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารด้านครอบครัวในชุมชน และมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นมากขึ้น

3. การพัฒนาระบบศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ได้ดำเนินการโครงสร้างต้นแบบเพื่อช่วยเหลือคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวจากระดับจังหวัดสู่ระดับตำบล โดยใช้ศูนย์ ศพค.เป็นกลไกหลักในการเฝ้าระวังและป้องกันและแก้ไขของครอบครัวในตำบลและเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิบัติการฯ และสหวิชาชีพ ดำเนินการนำร่องใน 15 จังหวัด จังหวัดละ 3 ศพค.รวม ศพค. จำนวน 45 แห่ง ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี ปราจีนบุรี พิษณุโลก น่าน เชียงราย เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี เลย กาฬสินธุ์ ยโสธร ตรัง พัทลัง และสตูล ซึ่งโครงการดังกล่าวประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม คือ 1.อบรมพัฒนาศักยภาพกลไกการปฏิบัติงานศูนย์ปฏิบัติการฯ 2.ขับเคลื่อนระบบข้อมูลและกลไกการปฏิบัติการผ่านการจัดทำแผนครอบครัวเข้มแข็งลดความรุนแรง และ 3.ติดตามผลและถอดบทเรียนการบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนกลไกการพัฒนาสถาบันครอบครัว กลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ

4. การดำเนินงานศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กและบุคคลในครอบครัว กรมกิจการสตรีฯ ร่วมกับศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็ก เยาวชน และครอบครัว และการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว เพื่อแสดงเจตนารมณ์ความร่วมมือในการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูและคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชนและครอบครัว ตลอดจนการเยียวยาผู้เสียหาย พร้อมเปิดศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กและบุคคลในครอบครัว

5. การสร้างหลักประกันความมั่นคงของครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน จำนวน 208 แห่ง 42 จังหวัด เป็นกลไกหลักในการสำรวจ ที่กำหนดเงื่อนไขของกลุ่มเป้าหมายให้เป็นพ่อแม่เลี้ยงลูกตามลำพัง โดยอาจมีสาเหตุของการเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมาจากการหย่า การแยกทาง การละทิ้ง และการเสียชีวิตของคู่สมรส และลูกต้องเป็นเด็กที่ยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้หรือลูกที่อยู่ในวัยเรียน อายุไม่เกิน 30 ปี หรืออายุไม่เกิน 35 ปี หากกำลังศึกษาอยู่ระดับอนุปริญญา/ปริญญาตรี รวมทั้งจำนวนพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 7,664 ราย

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

พัณณ์วรินทร์ อินโท่โล่ รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ