นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชีย-แอฟริกา (Asian-African Summit) ระหว่างวันที่ 21– 23 เมษายน 2558 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

ข่าวทั่วไป Monday April 20, 2015 12:03 —สำนักโฆษก

วันนี้ ร.อ. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยกับสื่อมวลชนว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรองนายกรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญของรัฐบาล อาทิ พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเข้าร่วมประชุมสุดยอดเอเชีย-แอฟริกา (Asian-African Summit) ตามคำเชิญของนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 21– 23 เมษายน 2558 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ หัวข้อหลักของการประชุม ได้แก่ “Strengthening South-South Cooperation to Promote World Peace and Prosperity” โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหารือเกี่ยวกับการฟื้นฟูพันธกรณีที่ทั้งเอเชียและแอฟริกาได้ให้ไว้ระหว่างการประชุมสุดยอดเอเชีย-แอฟริกาเมื่อปี ค.ศ. 2005 และเวทีการประชุมนานาชาติ หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เอเชีย-แอฟริกา (NAASP) เป้าหมายของการประชุม คือ ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาในทั้งสองภูมิภาค และหารือแนวทางรับมือกับประเด็นความท้าทายร่วมของทั้งสองภูมิภาค

โอกาสนี้ ที่ประชุมจะมีการรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมจำนวน 3 ฉบับ ดังนี้

1. ร่างข้อความสารบันดุง ปี ค.ศ. 2015 การเสริมสร้างความร่วมมือแบบใต้-ใต้ เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของโลก (Bandung Message 2015 Strengthening South-South Cooperation to Promote World Peace and Prosperity) มีสาระสำคัญ คือ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะเสริมสร้างความร่วมมือแบบใต้-ใต้ โดยการสร้างความเชื่อมโยงของภูมิภาคทั้งสองให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น และการยกระดับความร่วมมือระหว่างเอเชียและแอฟริกา ทั้งทางด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจการค้า และด้านสังคมและวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่สันติภาพและความมั่นคง การกำจัดความยากจน และการบรรลุถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน รวมทั้งการจัดการกับความท้าทายข้ามชาติอื่น ๆ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก

2. ร่างปฏิญญาว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่หุ้นส่วนใหม่ทางยุทธศาสตร์เอเชีย-แอฟริกา (Declaration on Reinvigorating the New Asian-African Strategic Partnership) มีสาระสำคัญ คือ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของหุ้นส่วนใหม่ทางยุทธศาสตร์เอเชีย-แอฟริกา สำหรับเป็นกลไกในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเอเชียและแอฟริกา และยืนยันพันธกรณีที่จะทำให้ความร่วมมือที่ดำเนินมาอย่างยาวนานระหว่างเอเชียและแอฟริกามีขอบเขตที่กว้างขวาง และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมเจตนารมณ์แห่งบันดุงสำหรับเป็นแนวทางการดำเนินความร่วมมือระหว่างเอเชียและแอฟริกาในอนาคต

3. ร่างปฏิญญาว่าด้วยปาเลสไตน์ (Declaration on Palestine) มีสาระสำคัญ คือ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการต่อสู้อย่างถูกต้องของประชาชนปาเลสไตน์ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิที่มิอาจทำให้เป็นอื่นได้ในการกำหนดการปกครองตนเอง และการบรรลุความเป็นรัฐปาเลสไตน์ที่มีเอกราชและอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์ รวมทั้งย้ำความสำคัญให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือในเชิงลบ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาหรือการบรรลุทางออกโดยสันติ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงภารกิจสำคัญของนายกรัฐมนตรีระหว่างการประชุมครั้งนี้ได้แก่ การเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุม Asian-African Summit การกล่าวถ้อยแถลงในการประชุม Asian-African Summit การเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างเป็นทางการ (Gala Dinner) ซึ่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพ ณ ทำเนียบประธานาธิบดีฯ เพื่อเป็นเกียรติแก่หัวหน้าคณะผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมด้วย พร้อมทั้ง เข้าร่วมการกล่าวปิดการประชุมของประธานาธิบดีอินโดนีเซียและการรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุม 3 ฉบับ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังจะมีการหารือทวิภาคีกับผู้นำประเทศต่าง ๆ ได้แก่ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน นายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล เพื่อส่งเสริมและขยายความร่วมมือระหว่างไทยและนานาประเทศ ด้วย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ