สวทช. จับมือ สอน. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คัดสรรงานวิจัย ช่วยผู้ประกอบการไทย ช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว นำร่องโครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ หวังกระตุ้นต่อยอดเป็นนวัตกรรมสินค้า เตรียมพร้อมขยายผลสู่เชิงพาณิชย์

ข่าวทั่วไป Monday April 20, 2015 13:45 —สำนักโฆษก

20 เมษายน 2558 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรุงเทพฯ : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช./วท.) ร่วมกับสถาบันวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำ “โครงการความร่วมมือขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์” ซึ่งการร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยมุ่งหวังที่กระตุ้นให้ภาคเอกชนนำผลงานไปใช้ประโยชน์ เกิดการต่อยอด และยกระดับผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งรวมงานวิจัยและพัฒนา เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการดำเนินการในรูปแบบต่างๆ ตามความเหมาะสม เช่น การฝึกอบรม การสาธิต การดูงาน เอกสาร คู่มือ และคิดค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุด ซึ่ง โครงการนี้เน้นการส่งเสริมให้แก่ผู้ประกอบการเอกชนไทยที่มีความสนใจที่จะนำเอานวัตกรรมเทคโนโลยีนำไปต่อยอดหรือขยายผลเป็นสินค้าที่มีความแปลกใหม่และเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช./วท.) กล่าวว่า สวทช. พยายามผลักดันงานวิจัยให้ตอบโจทย์และเป็นไปตามความต้องการของผู้ประกอบการมากขึ้น ด้วยมองว่าผู้ประกอบการไทยจะเทียบชั้นกับประเทศที่พัฒนาแล้วได้นั้น ควรนำเอางานวิจัย/เทคโนโลยี มาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด ให้มีความแปลกใหม่และทรงคุณค่า เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยก้าวสู่การเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยี เกิดการสร้างนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศบนเวทีการค้าโลกได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมานั้น สวทช. ยังมีบาทบาทสำคัญในการต่อยอดและส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังภาคอุตสาหกรรมในทุกภาคส่วน โดยค่อยสนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับ ให้ได้รับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยการให้การสนับสนุน ให้คำปรึกษาและบริการ รวมถึงการลงทุนต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ เช่น การสนับสนุนการบ่มเพาะผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่ โดยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาและฝึกอบรมทางธุรกิจ ตลอดจนเชื่อมโยงให้เข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจและนำธุรกิจให้อยู่รอดได้ การให้คำปรึกษา หาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้แก่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อการค้นคว้า วิจัยและพัฒนา หรือเพื่อใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตตามความต้องการของผู้ประกอบการ การให้บริการสนับสนุนทางการเงิน อาทิ กลไกการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคเอกชน และการรับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อหักลดหย่อนภาษี โดยผู้ประกอบการสามารถหักค่าใช้จ่ายสำหรับการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เป็น 3 เท่าของค่าใช้จ่ายจริงเป็นต้น

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช./วท.)เปิดเผยว่า การร่วมมือในครั้งนี้ ถือว่าเป็นอีกมิติหนึ่งที่ สวทช. จะเป็นส่วนเติมเต็มให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงแหล่งงานวิจัยได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก สวทช. นั้นมีผลงานวิจัยที่ภาคอุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อยู่เป็นจำนวนมาก โดย สวทช.จะนำผลงานวิจัยที่ถือสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ และยังไม่เคยให้สิทธิกับผู้ใดมาก่อน อาทิเช่น งานวิจัยในกลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ กลุ่มเกษตร และกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไป มาถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการเอกชนที่สนใจแบบไม่สงวนสิทธิ หรือที่เรียกว่า Non-excusive ซึ่งการถ่ายทอดนี้จะดำเนินการในรูปแบบต่างๆ ตามความเหมาะสม เช่น การฝึกอบรม การสาธิต การดูงาน เอกสาร คู่มือ และคิดค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุด ซึ่ง โครงการนี้เน้นการส่งเสริมให้แก่ผู้ประกอบการเอกชนไทยที่มีความสนใจที่จะนำเอานวัตกรรมเทคโนโลยีนำไปต่อยอดหรือขยายผลเป็นสินค้าที่มีความแปลกใหม่และเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น ทั้งนี้ สวทช. จึงกำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่จะขอรับการถ่ายทอดต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีผู้ถือหุ้นไทยอย่างน้อยร้อยละ 51 มีศักยภาพ มีความพร้อม มีความเข้าใจเทคโนโลยี และมีบุคลากรที่พร้อมรับการถ่ายทอดในสาขาที่สนใจ

ดร.ณรงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนระยะเวลาการพิจารณาอนุมัติการอนุญาตให้ใช้สิทธินั้น จะใช้เวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้น โดยจะมีคณะกรรมการพิจารณาร่วมระหว่าง สวทช. และสภาอุตสาหกรรม นอกจากนี้ สวทช. ยังจะมีการติดตามประเมินผล รวมถึง การให้ผู้ประกอบการที่รับการถ่ายทอดจัดทำรายงานผลการใช้เทคโนโลยี เพื่อที่ทาง สวทช.จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว นำมาปรับปรุงและพัฒนาต่อไป ในการนี้ สวทช. ได้จัด “Technology Show” ขึ้นในวันที่ 30 เมษายน 2558 ตั้งแต่เวลา 9.00 – 13.30 น. ณ. อาคารศูนย์ประชุม สวทช. รังสิต เพื่อให้ผู้สนใจได้รับฟังข้อมูลงานวิจัยในกลุ่มต่างๆ รวมทั้งรายละเอียดในการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยสามารถดูรายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่ www.nstda.or.th/nstda-services สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 02-564-8000

ภก.เชิญพร เต็งอำนวย ประธานสถาบันวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการนี้ถือเป็นความร่วมมือที่ดี ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม มีช่องทางในการเข้าถึงนักวิจัย ผลงานวิจัย หรือเทคโนโลยี ที่ภาครัฐมีอยู่ เพื่อนำไปพัฒนาหรือต่อยอดให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีนวัตกรรมเป็นตัวชู ซึ่ง ส.อ.ท. มียุทธศาสตร์และนโยบายที่จะผลักดันใหัภาคอุตสาหกรรมไทย ตระหนักถึงความสำคัญในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว อีกทั้งโครงการนี้จะเป็นการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง มั่นคงและยั่งยืน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ฝ่ายประสานงาน คุณธีรนิตย์ รัตนวราห

โทรศัพท์ 02-6448150 ต่อ 81855 โทรศัพท์มือถือ 0818140886

e-mail : teeranit@nstda.or.th

ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร โทรศัพท์ 02-564-7000 ต่อ 71725 71727 71731

ผู้ประสานงาน : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ