กระทรวงคมนาคมแถลงผลการบริหารจัดการการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2558

ข่าวทั่วไป Friday April 24, 2015 11:55 —สำนักโฆษก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงผลการบริหารจัดการการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2558 โดยมี นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงฯ นายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงฯ และโฆษกกระทรวงฯ นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี นายพงษ์ไชย เกษมทวีศักดิ์ รองปลัดกระทรวงฯ นายสนิท พรหมวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ และรองโฆษกกระทรวงฯ ผู้บริหารกระทรวงฯ หัวหน้าหน่วยงานในสังกัด และสื่อมวลชน เข้าร่วมการแถลงข่าว ในวันพุธที่ 22 เมษายน 2558 ณ ห้องราชดำเนิน อาคารสโมสรและหอประชุม ชั้น 2 กระทรวงคมนาคม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้ดำเนินงานตามแผนอำนวยความสะดวกและปลอดภัยเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2558 “มอบความสุข ความสะดวก ความปลอดภัย ให้คนไทยทั้งประเทศ” ระหว่างวันที่ 9 – 19 เมษายน 2558 ซึ่งสรุปการดำเนินงาน ดังนี้

1. การบริหารจัดการการให้บริการในภาพรวมของกระทรวงคมนาคม ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2558

กระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัด ได้ร่วมรณรงค์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร การจราจร เส้นทางเลือก/ทางเลี่ยง จุดเฝ้าระวัง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ร่วมปฏิบัติงาน ณ จุดให้บริการทั่วประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง และตลอดช่วงเทศกาล โดยประชาชนสามารถติดตามข้อมูลการให้บริการข้อมูลการจราจรและเส้นทางต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคม แบบระบบเรียลไทม์ ผ่านทางเว็บไซต์กระทรวงฯ ที่ www.mot.go.th

2. การให้บริการขนส่งสาธารณะช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2558

กระทรวงฯ ได้เก็บสถิติข้อมูลในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2558 สรุปว่า มีประชาชนเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะ รวมทั้งสิ้น 10,529,984 คน เมื่อเปรียบเทียบกับเทศกาลสงกรานต์ 2557 มีประชาชนเดินทางเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.42 และเปรียบเทียบกับเทศกาลปีใหม่ 2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.69 โดยแบ่งข้อมูลการเดินทางของประชาชนออกเป็นการเดินทางระหว่างจังหวัดและระหว่างประเทศ ของกรมการบินพลเรือน (บพ.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) รวมจำนวน 4,795,988 คน คิดเป็นร้อยละ 45.55 ของการเดินทาง ด้วยระบบขนส่งสาธารณะทั้งหมด และการเดินทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) รวมทั้งสิ้น 5,733,996 คน คิดเป็นร้อยละ 54.45 ซึ่งพิจารณาแยกรูปแบบการเดินทาง พบว่า ประชาชนใช้บริการการเดินทางทางอากาศมากที่สุด จำนวน 1,941,890 คน รองลงมา คือ บขส. จำนวน 1,748,531 คน และ รฟท. จำนวน 1,105,567 คน ซึ่งกระทรวงฯ ได้บริหารจัดการการขนส่งสาธารณะรองรับการเดินทางของประชาชน ทั้งการเดินทางระหว่างจังหวัด ระหว่างประเทศ และในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งการจัดการอำนวยสะดวกในการเดินทางได้เพียงพอ และไม่มีผู้โดยสารตกค้าง ซึ่งสรุปการให้บริการประชาชน ดังนี้

  • กรมเจ้าท่า (จท.) ดูแลความพร้อมโป๊ะ ท่าเทียบเรือ และจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกทุกท่าเรือ พร้อมเรือรักษาการณ์ ตลอด 24 ชั่วโมง จำนวน 61 ลำ แบ่งเป็น ส่วนกลาง จำนวน 5 ลำ และส่วนภูมิภาค จำนวน 56 ลำ
  • กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ให้บริการรถโดยสารประจำทาง รถโดยสารไม่ประจำทาง พร้อมรถรับ - ส่ง ระหว่างสถานีโดยสารกับหมู่บ้านอย่างพอเพียง
  • กรมการบินพลเรือน (บพ.) รองรับการขอเพิ่ม/เปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน ให้บริการผู้โดยสาร จำนวน 234,793 คน และบริหารจัดการเที่ยวบิน จำนวน 1,950 เที่ยวบิน
  • การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพิ่มตู้โดยสารในขบวนรถประจำ ขบวนละ 1- 2 ตู้ จำนวน 242 ขบวน และให้บริการรถไฟฟรี ในเส้นทางสายเหนือและสายอีสาน จำนวน 30 เที่ยว รวมทั้งสิ้น 2,386 เที่ยว และให้บริการผู้โดยสาร จำนวน 1,105,567 คน
  • การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปรับความถี่การเดินรถตามปริมาณผู้ใช้บริการ จำนวน 19 ขบวน/วัน และให้บริการเที่ยว จำนวน 3,615 เที่ยว รองรับการเดินทางของผู้โดยสาร จำนวน 1,887,267 คน
  • องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ให้บริการรถ Shuttle Bus และรถ Airport Bus เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารในการเดินทางเชื่อมต่อไปยังท่าอากาศยานและสถานีขนส่งต่าง ๆ และจัดบริการเดินรถปรับอากาศร่วมกับ บขส. ในเส้นทาง กรุงเทพฯ – สระบุรี จำนวน 15 คัน โดยรวม ขสมก. ให้บริการเที่ยวรถ รวมทั้งสิ้น 44,064 เที่ยว รองรับผู้โดยสาร จำนวน 3,386,408 คน
  • บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ให้บริการขนส่งผู้โดยสาร รวมทั้งสิ้น 1,748,531 คน และจัดเที่ยวรถเพื่อให้บริการ รวม 81,528 เที่ยว
  • บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) เพิ่มเที่ยวบิน กรุงเทพฯ - ภูเก็ต จำนวน 7 เที่ยว รวมให้บริการทุกเส้นทางบินภายในประเทศ จำนวน 520 เที่ยว รองรับผู้โดยสาร จำนวน 121,033 คน
  • บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ให้บริการผู้โดยสาร รวมทั้งสิ้น 1,707,097 คน และจัดเที่ยวบิน รวมจำนวน 10,812 เที่ยว
  • บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) เพิ่มการเดินรถรอบพิเศษ เส้นทางสุวรรณภูมิ – พญาไท จำนวน 2 เที่ยว/วัน ให้บริการรวมทั้งสิ้น 1,688 เที่ยว รองรับการเดินทางของผู้โดยสาร จำนวน 460,321 คน
  • บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด (บทม.) จัดให้บริการเที่ยวบินไป - กลับ รวมทั้งสิ้น 329 เที่ยว

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2557 โดยเปรียบเทียบในช่วงเวลา 7 วัน ของเทศกาล พบว่า ปริมาณการเดินทางเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 3.42 โดยเพิ่มขึ้นจากการเดินทางระหว่างจังหวัดและระหว่างประเทศ คิดเป็นร้อยละ 12.21 ส่วนการเดินทางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล มีปริมาณลดลง คิดเป็นร้อยละ 3.13

3. สถานการณ์อุบัติเหตุบนโครงข่ายคมนาคมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2558

3.1 ปริมาณการเดินทางบนทางสายหลัก

จากรายงานปริมาณการใช้รถบนทางสายหลักของ ทล. พบว่า ปี 2558 มีปริมาณการเดินทางเพิ่มขึ้นจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2557 ประมาณร้อยละ 4 – 8 และวันที่มีการเดินทางเป็นจำนวนมาก ช่วงขาไป คือ วันที่ 11 เมษายน 2558 และขากลับ คือ วันที่ 15 เมษายน 2558 แต่ในช่วงขากลับ การเดินทางของประชาชนมีการกระจายตัว ในช่วงวันที่ 16 – 19 เมษายน 2558 และการกระจายตัวเดินทางตามเส้นทางแนะนำ ทางเลือก ทางเลี่ยง ส่งผลให้ในภาพรวมไม่มีปัญหาวิกฤติจราจร

3.2 สรุปภาพรวมการเกิดอุบัติเหตุบนโครงข่ายคมนาคม

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2558 ระยะเวลา 11 วัน (9 – 19 เมษายน 2558) เกิดอุบัติเหตุบนโครงข่ายในความรับผิดชอบของกระทรวงฯ ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ รวมทั้งสิ้น 1,671 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต จำนวน 316 คน และมีผู้บาดเจ็บ จำนวน 1,894 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 คิดเป็นร้อยละ 16.04 ร้อยละ 14.49 และ ร้อยละ 2.6 ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เกิดอุบัติเหตุบนโครงข่ายทางถนน มีสาเหตุจากการขับรถเร็ว ตัดหน้าฝ่าไฟแดง และเมาสุรา ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาภาพรวมการเกิดอุบัติเหตุสะสม 7 วัน (9 – 15 เมษายน 2558) พบว่า ใกล้เคียงกับปี 2557 คือ มีอุบัติเหตุ 1,389 ครั้ง เสียชีวิต 261 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.93 และ 3.98 ตามลำดับ โดยมีผู้บาดเจ็บ 1,520 คน ลดลงร้อยละ 12.49

สำหรับการวิเคราะห์จำนวนการเกิดอุบัติเหตุร่วมกับปริมาณการใช้ทางสายหลัก พบว่า แม้เป็นช่วงวันที่มีการเดินทางในโครงข่ายสายหลักน้อยที่สุด (13 – 14 เมษายน 2558) แต่เกิดอุบัติเหตุ 2 วัน รวม 433 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 487 คน และผู้เสียชีวิต 87 คน คิดเป็นร้อยละ 31.17, 33.33 และ 32.04 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับอุบัติเหตุสะสม 7 วัน ของปีเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับการเกิดอุบัติเหตุจากการวิเคราะห์ภาพรวมทั้งประเทศ อีกทั้งสถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่หรือในชุมชน หลังจากที่ประชาชนถึงจุดหมายปลายทางแล้ว แสดงให้เห็นว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่มีสาเหตุจากพฤติกรรมการขับขี่ รูปแบบการฉลองเทศกาลที่อาจมีความเสี่ยง ความประมาท และการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนั้น จึงนำไปสู่บทสรุปแนวทางในการป้องกันอุบัติเหตุ ได้ดังนี้

  • เน้นการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
  • ดำเนินการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ มาตรการสร้างจิตสำนึกการเคารพกฎจราจรอย่างต่อเนื่อง
  • การร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายของทุกภาคส่วน
  • การปลูกฝังค่านิยมการขับขี่ที่ปฏิบัติตามกฎจราจร ตั้งแต่ในระดับเยาวชน
  • การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ทั้งช่วงเทศกาล และช่วงวันปกติ
  • การตรวจสอบ ปรับปรุง แก้ไข ซ่อมบำรุง หรือพัฒนาทางกายภาพของโครงข่ายคมนาคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในช่วงเทศกาลและเป็นประจำ เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดและป้องกันอุบัติเหตุทางถนน
  • การดำเนินการอย่างเข้มข้นตามมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดในช่วงเทศกาล มีแนวโน้มของผลการปฏิบัติงานที่ดี ส่งผลให้ไม่มีอุบัติเหตุใหญ่ในระบบขนส่งสาธารณะ ดังนั้น กระทรวงฯ จะดำเนินการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งช่วงเทศกาลและช่วงเวลาปกติ

ที่มา, ผู้เสนอ : กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ