กระทรวงคมนาคมแถลงผลการดำเนินงาน รอบ 6 เดือน

ข่าวทั่วไป Friday April 24, 2015 12:02 —สำนักโฆษก

พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงผลการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม รอบ 6 เดือน (เดือนตุลาคม 2557 - เดือนมีนาคม 2558) โดยมี นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงฯ นายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงฯ และโฆษกกระทรวงฯ นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี นายพงษ์ไชย เกษมทวีศักดิ์ รองปลัดกระทรวงฯ ผู้บริหารกระทรวงฯ หัวหน้าและรองหัวหน้าหน่วยงานในสังกัด และสื่อมวลชน เข้าร่วมการแถลงผลการดำเนินงานฯ ในวันพุธที่ 22 เมษายน 2558 ณ อาคารสโมสรและหอประชุม ชั้น 3 กระทรวงคมนาคม

กระทรวงคมนาคม แถลงผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล รอบ 6 เดือน ภายใต้ 4 หลักบริหาร คือ 1. เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา 2. ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3. ซื่อสัตย์ โปร่งใส รอบคอบ ตรวจสอบได้ และ 4. ทำก่อน ทำจริง ทำทันที มีผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน โดยกระทรวงฯ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการที่สำคัญต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ตามแนวนโยบาย 8 ด้าน ของกระทรวงฯ ดังนี้

1. ปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณด้านการคมนาคมขนส่งของไทยต่อกระทรวงคมนาคมตลอดมา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนนนทบุรี 1 ว่า “สะพานมหาเจษฎาบดินทร์ทรานุสรณ์” และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อใหม่ของท่าอากาศยานน่านว่า “ท่าอากาศยานน่านนคร” และทรงเปิดอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานน่านนคร เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งกระทรวงฯ ได้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่อง อาทิ การแสดงละครเพลงและนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเจริญพระชนมพรรษา 88 พรรษา “ไกลกังวล มิวสิคัล ออน เดอะ บีช” จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2557 หัวข้อ “อัครมหาราชา ปิ่นฟ้าคมนาคม” และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา เป็นต้น

2. จัดทำยุทธศาสตร์

กระทรวงฯ ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย (พ.ศ. 2558 - 2565) เพื่อเสริมสร้างรากฐานความมั่นคงทางสังคม เศรษฐกิจ ความปลอดภัย และสร้างโอกาสสำหรับการแข่งขันและให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยดังกล่าว ประกอบด้วย 5 แผนงาน ได้แก่ 1) การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง 2) การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 3) การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน 4) การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ และ 5) การเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศ รวมวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,912,681 ล้านบาท โดยในปี 2558 จะมีการลงทุนรวมประมาณ 55,987 ล้านบาท เมื่อดำเนินการตามแผนฯ แล้วเสร็จจะส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ลดลงไม่น้อยกว่า 2% จากเดิมอยู่ที่ 14.4% สัดส่วนผู้เดินทางระหว่างจังหวัดโดยรถยนต์ส่วนบุคคลลดลง 40% ความเร็วเฉลี่ยของรถไฟขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น 60% ความเร็วเฉลี่ยของขบวนรถโดยสารเพิ่มขึ้น 100% สัดส่วนการขนส่งสินค้าทางน้ำเพิ่มขึ้น 19% ลดความสูญเสียน้ำมันเชื้อเพลิงได้ไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท/ปี และขีดความสามารถในการบริหารจัดการจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้นเป็น 1.40 ล้านเที่ยว/ปี (ปี 2567)

3. ประกาศความโปร่งใส

กระทรวงฯ ได้ดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity pact) ด้วยการเชิญผู้แทนจากองค์กรคอร์รัปชั่นและเครือข่ายการต่อต้านการทุจริต เป็นผู้สังเกตการณ์ในโครงการจัดซื้อรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) และโครงการจัดหาระบบเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ - ท่าพระ และหัวลำโพง - บางแค) ร่วมมือกับหน่วยงานกลางภายนอกตรวจสอบความโปร่งใสในโครงการต่าง ๆ นำระบบไอทีมาให้บริการประชาชน เพื่อสร้างความโปร่งใส ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวก รวดเร็ว และประหยัดเวลา อาทิ การจองหมายเลขทะเบียนรถผ่านระบบออนไลน์ การทดสอบการขับรถภาคทฤษฎีด้วยระบบ E-EXAM การเชื่อมโยงข้อมูลการตรวจสภาพรถจาก ตรอ. มายังกรมการขนส่งทางบก เพื่อใช้เป็นข้อมูลการชำระภาษีรถประจำปี เป็นต้น

4. เร่งใช้จ่ายงบประมาณ

กระทรวงฯ เร่งดำเนินการและเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2558 โดยในไตรมาส 2 มีการเบิกจ่ายงบประมาณ จำนวน 58,308.44 ล้านบาท คิดเป็น 40.32% สูงกว่าแผนที่วางไว้ 45,225.54 ล้านบาท คิดเป็น 31.28%

5. บริการยกระดับ

กระทรวงฯ มุ่งมั่นให้บริการประชาชนให้สามารถเข้าถึงง่าย ประหยัด และรวดเร็ว ด้วยการจัดระเบียบระบบขนส่งสาธารณะ อำนวยความสะดวก และความปลอดภัยในการเดินทาง ตรวจสภาพรถแท็กซี่มิเตอร์ จำนวน 13,274 คัน ผ่านมาตรฐาน 100,877 คัน จดทะเบียนรถจักรยานยนต์รับจ้าง จำนวน 91,874 คัน จัดระเบียบและกำหนดจุดจอดรับ - ส่งผู้โดยสารรถตู้โดยสารสาธารณะ ปรับปรุงเส้นทางและเงื่อนไขการให้บริการรถโดยสารประจำทาง หมวด 1 ในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 92 เส้นทาง และหมวด 2 จำนวน 56 เส้นทาง เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการของประชาชน รวมทั้งปรับปรุงห้องน้ำสาธารณะในสถานีขนส่งผู้โดยสารทั่วประเทศให้ได้มาตรฐานถูกสุขลักษณะ และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเกี่ยวกับการต่อทะเบียนรถด้วยระบบ IT และจัดพื้นที่การให้บริการรถโดยสารบริษัท ขนส่ง จำกัด สำหรับสุภาพสตรี (Lady Zone)

6. ขับเคลื่อนกฎหมาย

กระทรวงฯ ได้ปรับปรุงกฎหมายที่สำคัญซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 9 ฉบับ อาทิ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2557 พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2557 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2558 กฎกระทรวงการปักหลักเขตควบคุมทางน้ำ พ.ศ. 2558 เป็นต้น

7. เชื่อมโยงโครงข่ายสู่สากล

กระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ด้วยการพัฒนาโครงข่ายถนนและการคมนาคมขนส่งให้ได้มาตรฐาน รองรับพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 5 แห่ง การให้สัตยาบันความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross Border Transport Agreement : CBTA) เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และการจัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องหมายและวิธีการแสดงเครื่องหมายบ่งชี้ข้อมูลรถที่จดทะเบียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. .... ใน 5 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และสงขลา เพื่อแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบหรือก่ออาชญากรรมในจังหวัดชายแดนใต้

นอกจากนั้น กระทรวงฯ ได้ให้ความร่วมมือในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟร่วมกับรัฐบาลจีนและรัฐบาลญี่ปุ่น ด้วยการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟกับรัฐบาลจีน โดยแบ่งการดำเนินเป็น 4 ช่วง คือ กรุงเทพฯ - แก่งคอย, แก่งคอย - มาบตาพุด, แก่งคอย - นครราชสีมา และนครราชสีมา - หนองคาย และลงนามบันทึกแสดงเจตจำนง (MOI) กับรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาความร่วมมือทั้งการปรับปรุงเส้นทางรถไฟเดิม (ขนาดทาง 1 เมตร) และเส้นทางใหม่ขนาดมาตรฐาน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกแนวเส้นทางที่จะลงนามความร่วมมือด้านระบบราง เพื่อศึกษาและพัฒนาระบบรถไฟขนาดทางมาตรฐาน ซึ่งครอบคลุมถึงการพัฒนาโครงการระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในส่วนของรถไฟชานเมืองสายสีแดง และระบบโมโนเรล ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีระบบการให้บริการขนส่งสินค้าทางรางด้วย

8. ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน

กระทรวงฯ แก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะในจุดวิกฤต เช่น ถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณหน้าท่าอากาศยานดอนเมือง เชื่อมต่อโครงข่ายการเดินทางเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดด้วยการก่อสร้างทางลอด ขนาด 4 ช่องจราจร ที่แยกดาราสมุทร จังหวัดภูเก็ต ขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทางออกไปอีก 6 เดือน (ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 กรกฎาคม 2558) แก้ไขปัญหาการจุดบั้งไฟและปล่อยโคมลอย โคมควันและคลื่นวิทยุชุมชนรบกวนการบิน เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้ดำเนินงานตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีในเรื่อง การพัฒนาเส้นทางจักรยาน ด้วยการจัดทำทางจักรยานและดูแลมาตรฐานทางจักรยานในพื้นที่ของหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นทางเลือกในการเดินทางด้วยจักรยานเพิ่มขึ้น และการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในการบำรุงรักษาถนนในความรับผิดชอบของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

ที่มา, ผู้เสนอ : กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ