มท.1 ประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนทั่วประเทศ ติวเข้มนโยบายส่งเสริมการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาและรักษาความมั่นคงด้านชายแดน

ข่าวทั่วไป Friday May 1, 2015 16:26 —สำนักโฆษก

วันนี้ (1 พ.ค.58) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 1 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมมอบนโยบาย เรื่องการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาและรักษาความมั่นคงพื้นที่ชายแดน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย คณะผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทย อธิบดีทุกกรม คณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน 32 จังหวัด และ Video Conference ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ทั่วประเทศ

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ด้วยกระทรวงมหาดไทยได้รับการประสานจากกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนและผู้แทนของกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมการประชุมกับเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก เพื่อร่วมเสวนาและแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ชายแดน เขตเศรษฐกิจพิเศษ การข้ามแดนและการพัฒนาระบบการเดินทาง ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันในวันนี้ (1 พ.ค.58) เวลา 15.00 น. ณ โรงแรมอนันตรา สยาม

ดังนั้น ก่อนที่คณะของกระทรวงมหาดไทยจะเดินทางไปร่วมประชุมกับกระทรวงการต่างประเทศในช่วงบ่าย ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยจึงได้มีการจัดประชุมเพื่อมอบนโยบายและปรึกษาหารือร่วมกันถึงแนวทางการดำเนินงาน ด้านการต่างประเทศใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1. การดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดแนวทางให้จังหวัดชายแดน นำนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยไปเป็นกรอบดำเนินการ เน้นการสร้างความไว้วางใจและสร้างความร่วมมือระหว่างกัน และมีกลไกความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคีที่สำคัญหลายคณะและในเดือนมิถุนายนนี้ กระทรวงมหาดไทยจะเป็นเจ้าภาพในการประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนร่วมไทย - กัมพูชา ครั้งที่ 5 จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดด้านกัมพูชาทั้ง 7 จังหวัด ได้เตรียมข้อมูลที่จะนำเสนอในการประชุมดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำนโยบายในการส่งเสริมการสร้างความร่วมมือ “แบบเมืองคู่มิตร” กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันมีจังหวัดชายแดน 10 จังหวัดได้ลงนามสถาปนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 15 คู่

2. การพัฒนาพื้นที่ชายแดนได้ดำเนินการในหลายเรื่องสำคัญ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระยะแรก 6 จังหวัด ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอถอนสภาพที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อนำที่ดินของรัฐมาใช้ประโยชน์ โดยให้จังหวัดสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน และเตรียมพร้อมในเรื่องของการช่วยเหลือประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับ 4 จังหวัดที่จะดำเนินการในระยะที่สอง (นครพนม เชียงราย กาญจนบุรี และนราธิวาส) ด้านการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนมีศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (One Stop Service : OSS) เป็นแกนกลางในการให้ข้อมูลต่างๆ ของพื้นที่ สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ โดยประสานกับ BOI อย่างใกล้ชิดและให้จังหวัดรายงานจำนวนนักลงทุนและความคืบหน้าต่างๆ ให้กระทรวงมหาดไทยทราบทุกเดือน

เรื่อง การเปิดจุดผ่านแดน ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนความสัมพันธ์ การคมนาคมขนส่ง การค้า และการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในภูมิภาค ปัจจุบันมีจุดผ่านแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน รวม 93 แห่ง ใน 27 จังหวัด อยู่ระหว่างดำเนินการเปิดใหม่และยกระดับ จำนวน 25 แห่ง และที่กำลังจะเปิดเป็นจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คาดว่าจะเปิดทำการได้ภายในกลางเดือนพฤษภาคมนี้ การพัฒนาระบบการเดินทางข้ามแดน ขณะนี้ อยู่ระหว่างจัดทำข้อเสนอเพิ่มเติมว่าด้วยการข้ามแดนระหว่างไทย กับ เมียนมา ลาว และกัมพูชา เพื่อให้การเดินทางไปมาหาสู่ในพื้นที่ชายแดนมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อให้ใช้บัตรผ่านแดนเข้ามาทำงานในพื้นที่ชายแดนได้ นอกจากนี้ ในส่วนของกรมการปกครองจะจัดทำบัตรผ่านแดนรูปแบบใหม่ในแบบอิเล็คทรอนิคส์ (E-Border Pass) ในเดือนกรกฎาคม 2558 นี้ โดยเริ่มที่ด้านมาเลเซียและกัมพูชา ซึ่งจะช่วยเรื่องการตรวจสอบข้อมูลบุคคล ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางป้องกันปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

3.การป้องกันและแก้ไขปัญหาสำคัญในพื้นที่ชายแดน ได้เน้นย้ำเป็นพิเศษสำหรับการค้ามนุษย์ในกิจการประมง ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญในขณะนี้ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนที่มีพื้นที่ติดชายทะเล บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมิให้มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายในกิจการประมงและกิจการที่ต่อเนื่อง และควบคุมดูแลการทำประมงในพื้นที่รับผิดชอบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และกฎกติการะหว่างประเทศ การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ทุกรูปแบบ รวมทั้งให้กำชับไปยังทุกหน่วยงานในพื้นที่ดูแลสอดส่องไม่ให้มีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ทุกกรณี การแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ชายแดนเน้นการสร้างเครือข่ายด้านการข่าว เพื่อสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้ามาในพื้นที่ตอนใน การสร้างความเข้มแข็งหมู่บ้านชายแดนร่วมมือกับฝ่ายทหาร และการขยายผลโครงการหลวงเพื่อป้องกันการปลูกพืชเสพติดตามแนวชายแดน

และ 4. การรักษาความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน ตั้งแต่เรื่องปัญหาเขตแดน โดยให้จังหวัดชายแดนกำชับไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัครต่างๆ ในพื้นที่ สอดส่องดูแลและขอความร่วมมือ ในการทำความเข้าใจกับประชาชนตามแนวชายแดนให้ช่วยดูแลรักษาเส้นเขตแดนและหลักเขตแดนในพื้นที่ หากพบการกระทำที่จะเป็นการทำลายเส้นเขตแดนและหลักเขตแดน เช่น ภัยธรรมชาติ หรือการก่อสร้าง/การดำเนินกิจกรรมรุกล้ำพื้นที่ฝ่ายไทยขอให้แจ้งทางราชการทราบโดยเร็ว และสุดท้ายเรื่องการส่งกลับผู้หนีภัยจากการสู้รบ ปัจจุบันมีผู้หนีภัยจากการสู้รบจากเมียนมาในพื้นที่พักพิงชั่วคราว จำนวน 9 แห่ง ใน 4 จังหวัด กว่า 75,000 คน ได้กำชับให้จังหวัดที่มีพื้นที่พักพิงฯ กำกับดูแลการบริหารจัดการในพื้นที่พักพิงฯ ให้เป็นไปตามระเบียบแนวทางปฏิบัติ และเตรียมพร้อมในการส่งกลับผู้หนีภัย โดยเฉพาะการดำเนินการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และองค์กรเอกชนต่างๆ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เร่งผลักดัน งานสำคัญตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับทุกหน่วยงานในพื้นที่ทั้งในเรื่องของความมั่นคงภายใน การสร้างความปรองดอง การรักษาความสงบเรียบร้อย และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยจะมีการติดตามเร่งรัดการดำเนินงาน ทุกภารกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้สร้างสานสัมพันธ์ในระดับพื้นที่ และการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน การส่งเสริมกิจกรรม OTOP สองแผ่นดิน และมีกิจกรรมสานสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องต่อไปด้วย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ