กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม พร้อมเดินหน้ามาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย

ข่าวทั่วไป Friday May 8, 2015 11:08 —สำนักโฆษก

กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เร่งดำเนินมาตรการบังคับใช้กฎหมายเพื่อจัดระเบียบเรือประมงและปราบปรามการค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงานประมงและการทำประมงผิดกฎหมายตามนโยบายรัฐบาลเร่งรณรงค์ให้เจ้าของเรือประมงมาจดทะเบียนการติดตั้งระบบติดตามเรือ และออกตรวจตราเรืออย่างเข้มงวด

กรมเจ้าท่า ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบ และเป็นคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing : Illegal, Unreported and Unregulated) ได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงานประมงและการทำประมงผิดกฎหมาย ได้แก่ การรณรงค์และเร่งรัดให้มีการจดทะเบียนเรือประมงให้ถูกต้องครบถ้วน โดยมอบหมายให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคทุกสาขาที่มีพื้นที่รับผิดชอบติดชายฝั่งทะเล ออกหน่วยทะเบียนเรือเคลื่อนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งได้มีการออกหน่วยทะเบียนเรือเคลื่อนที่ไปแล้วจำนวน 351 ครั้ง การออกประกาศกระทรวง งดเว้นไม่เก็บค่าธรรมเนียมการตรวจเรือสำหรับเรือประมงขนาดไม่เกิน 20 ตันกรอส ซึ่งมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2558 - 12 มีนาคม 2559 การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของเรือประมงนำเรือมาจดทะเบียน พร้อมทั้งชี้แจงและให้ความรู้เกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์ต่าง ๆ ของการนำเรือมาจดทะเบียน

การตรวจตราบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยการให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคทุกสาขา จัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีในการออกตรวจตราบังคับใช้กฎหมาย และรายงานผลการปฏิบัติงานต่ออธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นประจำทุกเดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม - 31 มีนาคม 2558 มีเรือประมงเข้าสู่ระบบการจดทะเบียนเรือใหม่ จำนวน 5,166 ลำ และมีเรือประมงต่ออายุทะเบียนเรือ จำนวน 7,153 ลำ การอนุญาตให้ลงทำการในเรือ ดำเนินการตามมาตรา 285 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 ซึ่งคนประจำเรือหรือแรงงานจะลงทำการในเรือประมง ต้องแจ้งขออนุญาตจากกรมเจ้าท่า เมื่อได้รับอนุญาตจึงจะทำการได้ การแจ้งเข้า - ออก สำหรับเรือ 60 ตันกรอสขึ้นไป ที่จะออกไปจับปลายังต่างประเทศหรือนอกน่านน้ำ ต้องแจ้งก่อนที่เรือจะออก 6 ชั่วโมง และแจ้งหลังจากเรือที่เข้ามาภายใน 24 ชั่วโมง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย มาตรา 23 ซึ่งจะเพิ่มเติมในมาตรา 23/1บังคับเรือตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ที่เดินเรือในน่านน้ำไทยสำหรับเรือประมง จะต้องมีการแจ้งเข้า - ออก เพื่อช่วยในการควบคุมและติดตามตรวจสอบแรงงานประมงกับหน่วยงานที่รับผิดชอบอื่น ๆ

กรมเจ้าท่า ได้ดำเนินการออกกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ โดยอาศัยอำนาจตามความมาตรา 163 ของพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย บังคับให้เรือขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป ติดตั้งระบบติดตามเรือ Vessel Monitoring System VMS : ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2558 ทั้งนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคและสำนักงานเจ้าท่าสาขาเร่งดำเนินการติดตั้งระบบติดตามเรือ ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หลังจากนั้นจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด สำหรับการบังคับใช้กฎหมาย ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของเจ้าหน้าที่ ในการให้คำแนะนำและการปฏิบัติหน้าที่ต้องยึดกฎหมายเป็นหลักสำคัญ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ โดยการลงโทษขั้นสูงสุด ทั้งในการออกตรวจตราปราบปราม และการตรวจสอบการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าและการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์ประสานการปฏิบัติงานในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ตำรวจน้ำ กรมประมง กองทัพเรือ ทั้งนี้ ผลการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ตั้งแต่เดือนมกราคม - 31 มีนาคม 2558 โดยการออกตรวจเรือจำนวน 548 ครั้ง ตรวจเรือได้ จำนวน 4,049 ลำ พบการกระทำผิด จำนวน 270 ลำ โดยมีบทลงโทษด้วยการปรับ ตั้งแต่ 500 - 10,000 บาท

นอกจากนี้ กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลท่าเทียบเรือและแพปลาที่รองรับเรือขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ในเบื้องต้นพบว่ามีจำนวน 319 แห่ง พร้อมทั้งดำเนินการรณรงค์ให้ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือและแพปลา ขออนุญาตสร้างหรือประกอบกิจการท่าเทียบเรือและแพปลาให้ถูกต้อง รวมทั้งบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเรือประมงที่ใช้บริการที่ท่าเรือ ส่งให้กับศูนย์แจ้งเรือเข้า - เรือออก (PI-PO) ในกรณีเจ้าของเรือหรือนายเรือฝ่าฝืนไม่กรอกข้อมูลในแบบแจ้งเข้า - แจ้งออกเรือ ซึ่งการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ทำให้การกำกับดูแลการจัดระเบียบเรือประมงประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กรมเจ้าท่ายังคงเร่งดำเนินการตามแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงานประมงและการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) อย่างต่อเนื่องเพื่อสกัดกั้นขบวนการการค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงานประมง และยืนยันถึงความร่วมมืออันดีกับคณะกรรมาธิการยุโรปในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายอันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นสำคัญ

ที่มา : กรมเจ้าท่า

ผู้เสนอ : กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ