ภาครัฐ-เอกชน ร่วมขับเคลื่อนเดินหน้าประเทศไทยสู่เมืองศูนย์กลางอารยสถาปัตย์แห่งประชาคมอาเซียนภายใน 5 ปี

ข่าวทั่วไป Thursday May 14, 2015 11:24 —สำนักโฆษก

วันที่ 14 พ.ค. เวลา 13.00 น. ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับเกียรติเป็นประธานกล่าวในพิธีเปิดงาน เสวนา "โอกาสประเทศไทย: เมืองศูนย์กลางอารยสถาปัตย์แห่งประชาคมอาเซียน" Thailand Opportunity: Universal Design Hub of the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) Community ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ บริษัท ปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ไทยแอร์เอเชีย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด บริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน) บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยพัฒนาเอลลิเวเตอร์เซอร์วิส จำกัด ในการจัดงานดังกล่าวเพื่อรณรงค์ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องอารยสถาปัตย์ หรือหลักการออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวลให้กับสังคมไทย

ดร.พิเชฐ เปิดเผยว่า การดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบันจำเป็นต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสและคนที่ไม่ปกติ จึงเกิดแนวคิดการสร้างสังคมที่ดีและเท่าเทียมกันด้วย “อารยสถาปัตย์” หรือการออกแบบที่เป็นธรรมสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย ทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวันและในสถานที่ต่างๆ รวมทั้งในนิคมอุตสาหกรรมก็สามารถจัดสถานที่ให้เป็นอารยสถาปัตย์ได้ ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ จำนวนไม่น้อยถูกออกแบบ สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อคนพิการ อาทิ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสาร เครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์ ฯลฯ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ และยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ผู้สูงอายุด้วยการใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาสังคมไทยให้เข้มแข็ง โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไม่น้อยกว่า 5 ประเภท ได้แก่ ทางลาด ห้องน้ำ ที่จอดรถ ป้ายสัญลักษณ์ และบริการข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้การอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นไปอย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกัน รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในปี 2558

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริม สนับสนุนงานในหลายๆ ด้านที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ บางสิ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนการส่งเสริมงานด้านอารยสถาปัตย์ เพื่อนำเทคโนโลยีระดับสูงมาช่วยเหลือผู้ป่วยทุกๆ รูปแบบให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น โครงการในพระราชดำริต่างๆ โครงการที่พัฒนาเทคโนโลยีเก้าอี้ทำฟันสำหรับผู้พิการ และโครงการของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนที่ใช้เทคโนโลยีจากแสงซินโครตรอนคิดค้นชุดแสดงผลอักษรเบรลล์ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยตาบอดผลิต ฯลฯ

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า แนวความคิด“อารยสถาปัตย์” การออกแบบเพื่อคนทุกคน (Universal Design) เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในประเทศชั้นนำ เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น หรือ แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศสิงคโปร์ ที่มีการปรับสภาพแวดล้อมทางกายภาพและจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคน ในขณะที่หลายหน่วยงานในประเทศไทยก็หันมาให้ความสนใจอย่างจริงจัง ส่วนของ สสส. ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ฯ ที่มุ่งเน้นการดำเนินงานใน 4 เรื่อง คือ 1.การสร้างองค์ความรู้และพัฒนาเครือข่ายในกลุ่มเยาวชน นักศึกษา ผู้บริหารองค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ ทั้ง ภาครัฐ และเอกชน 2.การผลักดันนโยบาย ระเบียบข้อบังคับร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ 3. การสื่อสารสาธารณะ เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักของสังคม และ 4. การพัฒนากลไกการการติดตาม และผลักดันขยายผลนโยบายการออกแบบเพื่อคนทุกคน จนทำให้เกิดองค์ความรู้ งานวิชาการต่างๆ ได้แก่ การจัดทำหลักสูตร และคู่มือการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักศึกษาและสถาปนิก รวมถึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนสามารถนำผลงานเหล่านั้นไปกำหนดนโยบาย กฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ได้อย่างชัดเจน โดยมีภาคประชาสังคมเป็นอีกแรงที่ช่วยขับเคลื่อนงานด้านนี้อย่างต่อเนื่อง

ด้าน นายกฤษนะ ละไล ผู้รับผิดชอบ “โครงการพัฒนาและขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์” กล่าวว่า โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อรณรงค์ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องอารยสถาปัตย์ หรือหลักการออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวลให้กับสังคมไทย โดยเฉพาะการกระตุ้น สร้างแรงจูงใจ แก่ผู้นำองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญจนเกิดผลทางการปฏิบัติ และเกิดการประสานความร่วมมือของทุกส่วน ในด้านการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุ และผู้พิการทุกคนให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญเป็นการกระตุ้น และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมเห็นความจำเป็นของอารยสถาปัตย์ เพื่อให้คนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย เข้าถึงได้ ใช้ประโยชน์ได้ในตึกอาคาร สถานที่ บริการสาธารณะ และระบบขนส่งมวลชนทุกรูปแบบ โดยสะดวก ปลอดภัย ทันสมัย เป็นธรรม ทั่วถึง เท่าเทียม เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ร่วมกันขับเคลื่อนเดินหน้าประเทศไทยสู่ความเป็นเมืองศูนย์กลางอารยสถาปัตย์แห่งประชาคมอาเซียน ภายใน 5 ปีจากนี้ไป

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการแสดงนวัตกรรมที่น่าสนใจมากมาย ตัวอย่างเช่น วีลแชร์ไฟฟ้า และมีการเสวนาของบุคคลระดับแนวหน้าของไทย อาทิ มิสเตอร์มิเคล เหมนิธิวินเธอร์ เอกอัครราชฑูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย ดร.นริศ ชัยสูตร รองปลัดกระทรวงการคลัง ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นพ.บรรลุ ศิริพานิช สมาคมผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ภาคเอกชน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้แทนองค์กรคนพิการ ทั้งระดับภูมิภาคและในประเทศไทย

ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์

ถ่ายภาพ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์

สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand

ประสานรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : คุณวรรณภา บูชา (ต่าย) ฝ่ายสื่อสารองค์กร

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

โทรศัพท์ 02 343 1500

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ