“จักรมณฑ์” ยืนยัน ยังไม่มีการให้อนุญาตสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ ชี้ยังอยู่ในขั้นตอนการทำนโยบายทองคำตามข้อสั่งการของ ครม.

ข่าวทั่วไป Monday May 18, 2015 13:12 —สำนักโฆษก

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกรณีที่มีการรายงานว่ากระทรวงอุตสาหกรรมกำลังจะเปิดพื้นที่สัมปทานแหล่งแร่ทองคำแห่งใหม่ใน 31 จังหวัดทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 1 ล้านไร่ ว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2550 ได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมระงับการให้สัมปทานเหมืองแร่ทองคำไว้ก่อน จนกว่าจะมีการดำเนินนโยบายทองคำแล้วเสร็จ และขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการจัดทำนโยบายใหม่ โดยอยู่ในขั้นตอนการระดมความคิดเห็นของชาวบ้าน ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

“การดำเนินนโยบายทองคำจะต้องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย โดยกระบวนการที่ผ่านมาได้มีการระดมความคิดเห็นในส่วนของนักวิชาการ และผู้ประกอบการเสร็จแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นระดมความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการและให้ชาวบ้านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการวางนโยบายของคณะกรรมการตั้งแต่ต้น คาดว่าน่าจะลงพื้นที่ระดมความคิดเห็นชาวบ้านได้ไม่เกินเดือนกรกฎาคมนี้ ดังนั้น ยืนยันว่าในขณะนี้ยังไม่มีการอนุญาตให้มีการสำรวจหรือทำเหมืองแร่ทองคำใหม่ในพื้นที่ใด หากประชาชนพบเห็น หรือสงสัยว่ามีการสำรวจ หรือเข้าทำเหมืองแร่ดังกล่าวในพื้นที่ใด สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ทันที”นายจักรมณฑ์ กล่าว

ด้านนายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า การประกอบกิจการเหมืองแร่ของภาคเอกชนนั้น ผู้ประกอบการต้องได้รับอนุญาตใน 2 ส่วน ส่วนแรกคือการได้รับอนุญาตประกอบกิจการจากกระทรวงอุตสาหกรรม และส่วนที่สองคือ การได้รับอนุญาตการใช้พื้นที่จากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน เช่น หากเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ ต้องทำเรื่องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ หรือหากพื้นที่เป็นกรรมสิทธิ์ของชาวบ้านก็ต้องไปขอซื้อกรรมสิทธิ์ที่ดินจากชาวบ้าน ทั้งนี้ ต้องได้ข้อสรุปเรื่องพื้นที่ก่อน จึงจะสามารถยื่นขออนุญาตประกอบกิจการจากกระทรวงอุตสาหกรรมได้

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานอนุญาตและกำกับดูแลอุตสาหกรรม จะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ให้ข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้านกับทั้งผู้ประกอบการและประชาชนเพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจในข้อเท็จจริงที่ตรงกัน และที่สำคัญคือการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การกำหนดนโยบายไปจนถึงการปฏิบัติ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ