สวทช. ร่วมกับพันธมิตร แสดงศักยภาพเทคโนโลยีชิ้นส่วนยานยนต์ ในงาน Auto Parts Tech Day 2015

ข่าวทั่วไป Friday May 29, 2015 17:45 —สำนักโฆษก

สวทช. ร่วมกับพันธมิตรกว่า 10 หน่วยงานแสดงศักยภาพเทคโนโลยีชิ้นส่วนยานยนต์ ในงาน "Auto Parts Tech Day 2015" พบกับสุดยอดนวัตกรรมจากหน่วยงาน/ผู้ประกอบการไทย ทดลองขับรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงจาก สวทช. สัมผัสรถยนต์ไฟฟ้าและรถโดยสารไฟฟ้าจาก Loxley ยลโฉม BMW i3 และ Formula 1 Student ผลงานนักศึกษาส่งประกวดระดับโลก

ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงานแสดงเทคโนโลยีชิ้นส่วนยานยนต์ ประจำปี 2558 หรือ Auto Parts Tech Day 2015 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2558 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โดยงานดังกล่าวเกิดจากการทำงานกว่า 1 ปีที่ผ่านมาในรูปแบบคลัสเตอร์ชิ้นส่วนยานยนต์ของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย/สวทช. ซึ่งพยายามให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเกิดการเชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้สะดวก และสามารถบ่งชี้จุดที่ยังต้องมีการดำเนินการเพิ่มเติม ทั้งโดยการร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร หรือโดยการพัฒนาขึ้นใหม่ได้อีกด้วย

ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยในภาพใหญ่นอกจากการขับเคลื่อนการเติบโตผ่านโครงการ Eco Car Phase II แล้ว ในระยะถัดไปรัฐบาลมุ่งหวังที่จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นในประเทศไทย โดย พลเอกประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยมี สวทช. เป็นผู้แทน ทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ตลอดจนกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนายานยนต์ สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าต่อไปในอนาคต

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เราผลิตทำอย่างไรจึงจะมีมาตรฐาน และอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องมีเรื่องความปลอดภัยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ต้องผ่านการรับรองกี่ระบบ กี่มาตรฐาน มีห้องทดสอบที่ไหนบ้าง การทดสอบสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งมีความจำเป็นต้องมี One Stop Service จัดระบบและรู้ว่าทดสอบอะไรที่ไหน จะช่วยลดต้นทุนได้ เรามีเขตเศรษฐกิจพิเศษ อยากให้นิคมอุตสาหกรรมแบ่งพื้นที่จำนวนหนึ่งมาทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้เอกชนมาลงทุนทำการวิจัยจะทำให้มีผลด้านบวกจำนวนมาก โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว ทั้งบุคลากรและวัสดุอุปกรณ์ ในวันนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช. มี Nectec และ Mtec สามารถรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ได้หลายมิติ เช่น เพลา เบรก วัสดุ การทดสอบเหล็ก วัสดุใหม่ๆ และการดีไซต์ ไปจนถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

ด้าน รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค/สวทช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไทย สร้างรายได้เป็นแสนล้านบาทต่อปี โดยมีสัดส่วนในมูลค่าผลิตภัณฑ์ในประเทศด้านอุตสาหกรรมการผลิตประมาณร้อยละ 10 มีการจ้างงานจำนวนกว่า 100,000 คน มีผู้ประกอบการและโรงงานรวมกว่า 3,000 ราย โดยในปี 2557 ที่ผ่านมา ไทยเป็นผู้ผลิต/ประกอบรถยนต์ใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของโลกและใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีฐานการผลิตและเครือข่ายผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้การที่จะรักษาสถานภาพดังกล่าว รวมถึงสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้นั้น จำเป็นต้องมีการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยให้มีความเข้มแข็ง มีขีดความสามารถในด้านเทคโนโลยีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความพร้อมในการแข่งขัน ทั้งในเรื่องราคา คุณภาพ และระยะเวลาส่งมอบ มีความสามารถในการออกแบบและพัฒนาชิ้นส่วน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลกต่อไป นอกจากนี้ การที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยมีความเข้มแข็ง ก็ยังสามารถขยายโอกาสทางการตลาด

การจัดงาน Auto Parts Tech Day 2015 ได้ร่วมกับหน่วยงานสนับสนุนทั้ง 10 หน่วยงานจากภาครัฐและเอกชน คือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, สถาบันยานยนต์, สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย, สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย, สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย, สมาคมผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์และอะไหล่ทดแทนไทย, สมาคมพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรม และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานและกระทรวงฯ รวมถึงระหว่างหน่วยงานรัฐกับภาคเอกชน เพื่อร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทยให้สามารรถยืนหยัดแข่งขันและเห็นโอกาสในการนำความรู้ความชำนาญในอุตสาหกรรมขิ้นส่วนยานยนต์ไปช่วยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมใกล้เคียง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร อุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เป็นต้น

ทั้งนี้ภายในงานประกอบไปด้วยการสัมมนา การนำเสนอบริการสนับสนุนอุตสาหกรรม การแสดงผลงานนวัตกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องใน สวทช. และบริษัทเอกชนที่อยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ โดยในส่วนของการบรรยายพิเศษและสัมมนานั้น มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งในเรื่องแนวโน้มความต้องการชิ้นส่วนในอนาคต มาตรฐานการวิเคราะห์ทดสอบ วัสดุใหม่และการขึ้นรูป การออกแบบและระบบอัตโนมัติ การส่งเสริมและบริการจากภาครัฐ ประสบการณ์จริงในการสร้างนวัตกรรมของผู้ประกอบการชิ้นส่วนไทย รวมไปถึงโอกาสในการนำความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไปสนับสนุนอุตสาหกรรมข้างเคียง และในส่วนของบริการสนับสนุนอุตสาหกรรมนั้น นอกจากการนำเสนอบริการจากหน่วยงานต่างๆ แล้ว ในบางบริการก็ได้นำโครงการใหม่มาเปิดตัวในงานหรือให้ข้อเสนอพิเศษแก่ภาคอุตสาหกรรมที่แจ้งความสนใจใช้บริการในงานด้วย

สำหรับการแสดงผลงานเทคโนโลยีนวัตกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีการจัดแสดงผลงานจากนักศึกษาระดับปริญญาตรี โดยในงานนี้ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำรถ Student F1 หรือ Student Formula คันล่าสุดที่นำไปแข่งในต่างประเทศ ผลงานวิจัยที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอด พัฒนาโดยนักวิจัยจาก สวทช. เช่น รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง, ระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ, การพิมพ์สามมิติเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบและสุดท้ายผลงานที่สามารถออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ เช่น รถลากจูงไฟฟ้าพลังงานสะอาด, รถยนต์และรถโดยสารไฟฟ้าของบริษัท BYD ผู้นำในด้านนวัตกรรมแบตเตอรี่ของโลกจากประเทศจีน ซึ่งบริษัท Loxley ได้นำเข้ามาทดลองวิ่งและทดสอบตลาดอยู่ในขณะนี้ รศ.ดร.วีระศักดิ์ฯ กล่าว

ผู้เขียนข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์

ถ่ายภาพ : นายรัฐพล หงสไกร , นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์

เผยแพร่ข่าว : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทร. 02 333 3727-3732 โทรสาร 02 333 3834 E-Mail : pr@most.go.th facebook : sciencethailland

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ