หนุน แรงงานพัฒนาฝีมือ ได้ค่าจ้างสูงขึ้น

ข่าวทั่วไป Wednesday June 10, 2015 16:41 —สำนักโฆษก

ยืนยัน ไม่ยกเลิกค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน อย่างแน่นอนปรับขึ้นดูความเหมาะสมแต่ละพื้นที่ อยู่ในหลักวิชาการ สมเหตุสมผล ค่าจ้างแบบลอยตัวเป็นเพียงการศึกษาวิจัย ยังไม่นำมาใช้ แรงงานไทยต้องพัฒนาฝีมือให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อแข่งขันกับนานาประเทศ

นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าคณะกรรมการค่าจ้างไม่ได้มีมติยกเลิกการใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน อย่างแน่นอน โดยอัตรานี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2556 และสำหรับในปี 2559 นั้นสภาพสังคมในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ดังนั้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ใช้มาในระยะเวลาหนึ่งอาจจะต้องมีการปรับขึ้น แต่จะปรับอย่างไรก็ต้องเริ่มต้นที่ 300 บาท/วัน เป็นฐานในการปรับ

นายอารักษ์ กล่าวขยายความว่า สำหรับแนวทางการขึ้นค่าจ้างที่จะมีการพิจารณาในเดือน ตุลาคม ซึ่งจะมีผลบังคับต้นปี 2559 นั้นมีกระบวนการคือต้องผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดมาเป็นขั้นต้น โดยคณะอนุฯจังหวัดจะต้องพิจารณาบนฐานข้อมูลของค่าครองชีพแต่ละพื้นที่ ความจำเป็นต่างๆ และความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของผู้ประกอบการในพื้นที่ก่อนที่จะส่งให้คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง ทำการประมวล พิจารณาและวิเคราะห์อย่างรอบคอบ ถี่ถ้วน ศึกษาความเป็นไปได้ของค่าจ้างแต่ละจังหวัดว่ามีความพร้อม มีปัจจัยใดที่จะมีผลต่อการปรับหรือไม่ปรับค่าจ้างจากเดิมเพราะแต่ละจังหวัดมีสภาพข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อพิจารณาผนวกกับสภาพด้านเศรษฐกิจ สังคม และผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ผลิตภาพแรงงานที่เกิดขึ้นในแต่ละจังหวัดแล้ว จึงจะส่งผลการพิจารณาให้คณะกรรมการค่าจ้างเป็นผู้พิจารณาในรูปแบบหรืออัตราที่จะปรับขึ้นว่าจะอยู่ในลักษณะใด ซึ่งการพิจารณาในทุกชุดจะมีการพิจารณาแบบไตรภาคี คือมีทั้งฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และฝ่ายรัฐ ดังนั้นการปรับขึ้นก็จะอยู่บนพื้นฐานหลักวิชาการ และความสมเหตุสมผลเป็นสำคัญ

ส่วนสถานการณ์แรงงานในปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจำนวน 1.6 ล้านคน โดยขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทางเพื่อเป็นการรับรองโดยการออกหนังสือเดินทาง จากนั้นกระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางาน จะออกใบอนุญาตการทำงานให้ถูกต้องเพื่อที่จะได้รับการคุ้มครองดูแลตามกฎหมาย

สำหรับแรงงานไทยนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาฝีมือ เนื่องจากในอนาคตค่าจ้างจะขึ้นอยู่กับฝีมือของแรงงาน กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พยายามที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้แรงงานมีการพัฒนาฝีมือตนเองให้มีมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อสามารถแข่งขันกับนานาประเทศ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ