นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 6 ย้ำว่า ทุกประเทศ คือ ผู้นำแห่งความร่วมมือ เป็นกุญแจสำคัญแห่งความสำเร็จ

ข่าวทั่วไป Tuesday June 23, 2015 17:22 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 6 ย้ำว่าทุกประเทศ คือ ผู้นำแห่งความร่วมมือ เป็นกุญแจสำคัญแห่งความสำเร็จ

23 มิถุนายน 2558 เวลา 10.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 6 โดยมีผู้นำ ACMECS นายเต็ง เส่ง ประธานาบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชานายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายเหวียน เติ๊น สุง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และนาย เล เลือง มินห์ เลขาธิการอาเซียน

ภายหลังการประชุม พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้

2015-06-23

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ที่ได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และยินดีที่ได้มาร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) ครั้งที่ ๖ นี้การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในช่วงเวลาที่สำคัญ เพราะปลายปีนี้ การรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่เรารอคอยกำลังจะมาถึง

ความสำเร็จของ ACMECS จะเป็นโครงสร้างรากฐาน (building block) ที่ต่อยอดไปสู่อาเซียน จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะกำหนดทิศทางความร่วมมือของ ACMECS ให้เกื้อกูลการเป็นประชาคมอาเซียนให้มากที่สุด

ประชาคมอาเซียนจะเป็นประชาคมแห่งโอกาสสำหรับประชาชนได้นั้น ต้องร่วมกันสร้างหลักประกันเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้นของพวกเขาทุกคน โดยคำนึงว่า ประชาชนคือศูนย์กลาง และเป็นกลไกหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืนประเทศของเราและประชาชนของเราจะต้องได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันโดยไม่มีใครถูกมองข้ามหรือถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง จะต้องก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมั่นคงเพื่อสร้างเสริมความสุข และความกินดีอยู่ดีให้กับปวงชนชาวไทย โดยมุ่งขจัดความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมในประเทศให้หมดไป

การที่ประชาชนอยู่อย่างมีความสุขในสังคมที่ดีและน่าอยู่ ไม่ควรจำกัดอยู่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะต้องเกิดขึ้นกับทุกประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคของเรา การที่จะเกิดสิ่งนี้ได้ เราต้องแบ่งปันกัน ร่วมมือกันพัฒนา และช่วยเหลือซึ่งกันและกันนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เมื่อประชาชนในประเทศมีความเป็นอยู่ดี เสถียรภาพทางการเมืองก็จะเกิดขึ้น มีความมั่นคง ไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่หวาดระแวงกัน เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นในทุกประเทศในภูมิภาคของเรา จะเป็นการสร้างคุณูปการให้แก่ภูมิภาคอย่างแท้จริง จึงต้องผลักดันความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ในสาขาที่เราได้วางแนวทางไว้และพิจารณาถึงลำดับความจำเป็นและความเป็นไปได้ในการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

ประการแรก คือ ดำเนินการต่อเนื่องการส่งเสริมความเชื่อมโยง (connectivity) ในทุกมิติและทุกรูปแบบภายในอนุภูมิภาค และขยายออกไปภายนอกภูมิภาคด้วย ผมเชื่อมั่นว่าความเชื่อมโยงที่ทั่วถึงจะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างงาน สร้างรายได้ การไปมาหาสู่ และนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำของระดับการพัฒนาระหว่างประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคได้ในที่สุดรัฐบาลไทยจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่ได้มาตรฐานสากลและครบวงจร เพื่อการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อระหว่างประเทศต่าง ๆ และการเชื่อมโยงแนวพื้นที่เศรษฐกิจในภูมิภาคให้สมบูรณ์ ไทย ได้มีการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง ระยะ 8 ปี เป็นมูลค่า 1.9 ล้านล้านบาท โดยในปัจจุบัน ฝั่งตะวันตกของแนวพื้นที่เศรษฐกิจมีความคืบหน้าทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อาทิ การก่อสร้างถนนจาก ติงกะยิงหย่อง – กอกะเร็ก ซึ่งไทยจะทำการส่งมอบอย่างเป็นทางการให้แก่รัฐบาลเมียนมาร์ในเดือนหน้านี้แล้ว และการปรับปรุง เส้นทาง เมียวดี – ติงกะยิงหย่อง นอกจากนี้ ก็ยังมีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ ไทย – เมียนมาร์ แห่งที่ 2 ส่วนสะพานมิตรภาพ ไทย – สปป. ลาว แห่งที่ 5 ก็ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้วเมื่อไม่นานมานี้ ไทยพร้อมที่จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและทางการเงินแก่ประเทศสมาชิก ACMECS

นายกรัฐมนตรียังกล่าวต่อไปว่า เพื่อให้สินค้าและคนสามารถเคลื่อนย้ายผ่านแดนได้อย่างรวดเร็วและราบรื่น ต้องมีการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบควบคู่ไปด้วยกัน คือ การลดอุปสรรคทางการค้า ทั้งที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี การอำนวยความสะดวกในการผ่านแดน การลดขั้นตอนและเอกสารที่ไม่จำเป็น การจัดทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างกัน ตลอดจนการแก้ไขกฎหมายและระเบียบภายในที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศให้สอดคล้องกัน

ทั้งนี้ ไทยได้ให้สัตยาบันภาคผนวกที่เหลือของความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) ครบหมดแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (East – West Economic Corridor – EWEC) ในเส้นทางหมายเลข 9 ขยายต่อไปถึงกรุงเทพฯ ฮานอย เวียงจันทน์ ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือไฮฟองในเวียดนามความเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาคในทุกมิติข้างต้นจะช่วยลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการได้ อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อสายการผลิตไม่ขาดช่วงและการขนส่งสินค้าไม่หยุดลงตรงบริเวณชายแดน เราก็จะสามารถสร้างเครือข่ายการผลิตที่แข็งแกร่งเพื่อผสานเข้ากับห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนและของโลก

สำหรับการท่องเที่ยว ไทยสนับสนุนการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้โครงการ “ห้าประเทศ หนึ่งจุดหมายปลายทาง” ของ ACMECS ไทยพร้อมให้ความร่วมมือแก่ประเทศสมาชิกในการสร้างห่วงโซ่มูลค่า (value chain) ด้านการท่องเที่ยว เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั้งในและนอก ACMECS ในการนี้ ไทยพร้อมที่จะฝึกอบรมบุคลากรของประเทศสมาชิก ACMECS เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเหล่านี้

การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว นอกจากการเชื่อมโยงกันโดยทางบกแล้วเรายังพัฒนาความเชื่อมโยงกันทางอากาศได้อีกทาง เช่น จัดให้มีเที่ยวบินเหมาลำ หรือการเป็นพันธมิตรระหว่างสายการบินในภูมิภาค โดยมีเส้นทางในกลุ่มประเทศของเราเป็นเป้าหมาย และเพิ่มจุดหมายปลายทางเพื่อให้ประชาชนไปมาหาสู่กันได้โดยสะดวกมากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวทางน้ำหรือทางเรือ อาทิ มีบริการเรือสำราญทางทะเลและตามแนวชายฝั่ง เป็นต้น

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงประเด็นความมั่นคงว่า ก็เป็นเรื่องที่ทุกประเทศจะต้องคำนึงถึง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเราล้วนได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามที่มองไม่เห็น โดยบ่อยครั้งเราถูกใช้เป็นทางผ่านของกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่ง (radicalism) ดังนั้น ก่อนที่เราจะดำเนินการต่อไปเพื่อสานต่อโครงการอำนวยความสะดวกด้าน visa ต้องสร้างภูมิคุ้มกันโดยการพัฒนาระบบการคัดกรองและมาตรการติดตามควบคุมที่มีประสิทธิภาพตลอดจนเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยก่อนด้วย

เมื่อความเชื่อมโยงเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แล้ว ความร่วมมือประการที่สอง คือ การแปรสภาพให้ระเบียงการขนส่งให้กลายเป็นระเบียงเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ไทยจึงหวังว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณชายแดนจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษและเพื่อที่จะเข้าใกล้เป้าหมายการเป็นฐานการผลิตเดียวตามแนวทางของประชาคมอาเซียนมากขึ้น จะต้องส่งเสริมการอำนวยความสะดวกและสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ในเรื่องนี้

ในการนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศอนุญาตการนำเงินบาทออกจากไทยไปยังประเทศ CLMV มาเลเซียและจีน (ยูนนาน) มากขึ้นเป็น 2 ล้านบาท ขอสนับสนุนให้ใช้เงินสกุลท้องถิ่นให้มากขึ้นด้วย

การสถาปนาเมืองคู่แฝดระหว่างเมืองใกล้เคียง ก็จะมีส่วนช่วยขยายและกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการเติบโตของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่กำลังจะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ได้เป็นอย่างดี และไทยยินดีที่จะมีการสถาปนาเมืองคู่แฝดเพิ่มเติมระหว่างจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดบุรีรัมย์ของไทยกับจังหวัดอุดรมีชัยของกัมพูชาในเวลาอันใกล้นี้

อย่างไรก็ตาม เมืองคู่แฝดมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่จะต้องร่วมมือและพัฒนาไปพร้อมๆ กันในทุกๆ ด้าน เพราะแต่ละด้านต่างเกี่ยวโยงกัน โดยเฉพาะด้านสังคม การศึกษา สาธารณสุขและวัฒนธรรม แม้กระทั่งความร่วมมือในด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ ซึ่งจะทำให้ประชาชนรู้จักกันมากขึ้นและสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน

นอกจากนี้ เมืองชายแดน ในฐานะที่เป็นเมืองหน้าด่าน จะต้องได้รับการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบในทางลบที่ติดตามมากับความเชื่อมโยงและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไร้พรมแดนด้วย ตลอดจนร่วมกันหาทางรับมือกับภัยคุกคามดั้งเดิมและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ การก่อการร้ายและอาชญากรรม ข้ามชาติ ความยากจน ความหิวโหย โรคระบาดและภัยธรรมชาติ เป็นต้น

ความร่วมมือประการสุดท้ายซึ่งสำคัญที่สุด คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนของเราในทุกด้านให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง และยิ่งไปกว่านั้นคือ เพื่อทำให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง ทั้งนี้ การศึกษาและการสาธารณสุข เป็นเรื่องที่ควรดำเนินการโดยทันทีและต่อเนื่องรัฐบาลไทยได้ให้ทุนการศึกษาแก่ประเทศสมาชิกไปแล้วกว่า 10,000 ทุน และยังคงยืนยันที่จะให้ทุนการศึกษา ทุนฝึกอบรมและศึกษาดูงานในสาขาต่าง ๆ แก่ประชาชนในประเทศสมาชิก ACMECS ต่อไป รวมทั้ง การส่งเสริมสุขภาวะ (wellness) และการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน รัฐบาลไทยได้ดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องโดยเน้นเรื่องสาธารณสุข อาชีวะ และการเกษตร

ด้านสาธารณสุข ไทยดำเนินโครงการก่อสร้างและปรับปรุงซ่อมแซมอาคารโรงพยาบาลและสุขศาลาในประเทศ ACMECS อย่างต่อเนื่อง มีการสร้างโรงพยาบาลใน สปป.ลาว 3 แห่ง มูลค่ารวมกว่า 90 ล้านบาท และมีแผนที่จะสร้างโรงพยาบาลที่ทวาย พร้อมทั้งจัดสรรเครื่องมือแพทย์และฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง มูลค่าประมาณ 40 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกันได้ภายในปี 2558 นี้

ด้านแรงงาน ไทยยินดีที่มีส่วนร่วมให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาฝืมือแรงงาน โดยจัดฝึกอบรมพื้นฐานแก่แรงงานและผู้ฝึกแรงงาน และการจัดตั้งศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีงานทำและมีรายได้ที่เท่าเทียม มีมาตรการสร้างแรงจูงใจเพื่อกระจายแรงงานไปสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่เศรษฐกิจที่มีศักยภาพอื่น ๆ ในทุกประเทศสมาชิกอย่างทั่วถึง สร้างปัจจัยให้มีแรงงานเพียงพอในทุกประเทศสมาชิก โดยไม่ให้เกิดการขาดแคลนแรงงานหรือการไหลทะลักของแรงงานไปที่หนึ่งที่ใดโดยเฉพาะ และเมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นเท่ากับว่าแรงงานของเราทั้งหลายได้มีโอกาสที่จะทำงานในประเทศของตนและอยู่กับญาติพี่น้องอย่างเป็นสุข

และด้านการเกษตร ไทยมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของเกษตรกรผู้ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติ โดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรเพื่อบรรเทาผลกระทบของความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบโดยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกร เช่น การฝึกอบรมเกษตรกรเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดีรวมถึงเรื่องน้ำ การขจัดการค้าที่ไม่เป็นธรรม การเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรแปรรูป การสร้างแนวปฏิบัติที่ดี (Good Agricultural Practices - GAP) ด้านการเกษตรและมาตรฐานสินค้าเกษตร การบริหารอุปทาน ไม่ให้สินค้าเกษตรล้นตลาด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ และการปรับใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร

นายกรัฐมนตรียังเชิญชวนให้ร่วมกันผลักดันให้เกิดระบบสหกรณ์และส่งเสริมธุรกิจของชุมชน (social business) เพื่อขจัดความยากจนอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเพื่อให้เกษตรกรยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง อันสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไทยส่งเสริมความร่วมมือในลักษณะหุ้นส่วน โดยนำข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) ของแต่ละประเทศมาพิจารณา อาทิ สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) เทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร และโลจิสติกส์ เช่น การผลิตวัตถุดิบในประเทศ CLMV และใช้ประเทศไทยแปรรูปและกระจายสินค้าไปยังผู้ใช้ปลายทาง เป็นต้น ขณะเดียวกัน ประเทศที่มีจุดแข็งกว่า ในด้านใด ก็สามารถแบ่งปันได้ โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยี การแบ่งปันข้อมูล องค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน ความร่วมมือกัน ACMECS จะพัฒนาเป็นฐานที่แข็งแกร่งของอาเซียนในการที่จะสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการของภูมิภาคและเป็นคลังอาหารของโลกได้สำเร็จ

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ทุกประเทศจะต้องดำเนินบทบาท “ผู้นำแห่งความร่วมมือ” ร่วมกัน ผมเชื่อว่าการเป็นผู้นำหรือการเป็นผู้ให้ไม่สำคัญเท่ากับความร่วมมือและการเป็นหุ้นส่วนที่ดีต่อกัน ทั้งในระดับทวิภาคี ในกลุ่ม ACMECS และในอาเซียน รวมทั้งกับคู่เจรจาด้ว เพราะเวทีนี้ไม่มีใครเหนือใครและไม่มีใครเป็นคู่แข่งของใคร ทุกประเทศต่างก็มีศักยภาพของตนเอง ที่แตกต่างกันและมีทรัพยากรที่ล้ำค่า ทุกประเทศจึงเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จที่เรากำลังจะบรรลุร่วมกันนี้ โดยจะขาดใครแม้ประเทศใดประเทศหนึ่งไปไม่ได้เลย ผมดีใจที่ทุกประเทศในที่แห่งนี้มีส่วนร่วมในการแสดง (unlock) ศักยภาพของภูมิภาคของเราให้ประชาคมโลกได้ประจักษ์ นอกจากนี้ แรงสนับสนุนและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน หน่วยงานในระดับท้องถิ่น และองค์กรที่เป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของ ACMECS ต่อไป ไทยมุ่งมั่นในการก้าวไปข้างหน้าพร้อมกันกับสมาชิก ACMECS ทุกประเทศ

นายกรัฐมนตรีกล่าวในตอนท้ายยืนยันเจตนารมณ์ผู้นำ ACMECS ในการขับเคลื่อนความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ตามแผนงานสำคัญก่อนหลังและมีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน และจะติดตามผลการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ลุล่วง โดยจะนำความสำเร็จและประสบการณ์ของประเทศอื่น ๆ มาประกอบด้วย

กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ