ธ.ก.ส.มุ่งสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรไทยตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ข่าวทั่วไป Friday June 26, 2015 16:21 —สำนักโฆษก

ธ.ก.ส.จัดทำโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรไทยตามหลักปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียงต่อเนื่อง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2558 – 2560 วงเงินงบประมาณ 600 ล้านบาท เน้นพัฒนาและเชื่อมโยงองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดศักยภาพการผลิต การตลาด เครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังดำเนิน การ

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีมติเห็นชอบให้ดำเนินงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคเกษตรไทย ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นระบบต่อเนื่อง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2558 – 2560 งบประมาณปีละ 200 ล้านบาท รวม 600 ล้านบาท โดยเน้นพัฒนาเชื่อมโยงองค์ความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง ใช้คนและชุมชนเป็นศูนย์กลางผ่านชุมชนต้นแบบและศูนย์เรียนรู้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม โครงการดังกล่าว ประกอบด้วย 5 แผนงานหลัก คือ

แผนงานที่ 1 การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน พัฒนาเกษตรกรโดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ พัฒนายกระดับตามบันได 3 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 การพึ่งพาตนเอง เรียนรู้การดำรงชีวิตที่มีความมั่นคงในระดับครัวเรือน ใช้บัญชีครัวเรือนเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ตนเอง นำไปสู่การเปลี่ยนกรอบความคิดและสมการชีวิตใหม่ ลดละเลิกอบายมุข เสริมสร้างอาชีพ ขั้นที่ 2 การพึ่งพาซึ่งกันและกัน เสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม โดยร่วมคิดร่วมกันวางแผน ร่วมดำเนินการ ร่วมประเมินผล และร่วมรับประโยชน์ก่อเกิดเป็นธุรกิจ ใช้แผนแม่บทชุมชนเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ ขั้นที่ 3 สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงธุรกิจชุมชน ขยายผลต่อยอดความร่วมมือระหว่างชุมชนทางด้านการผลิต การรวบรวม การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า การตลาด ใช้แผนธุรกิจชุมชนเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการชุมชน ซึ่ง ธ.ก.ส.มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนชุมชนให้เกิดการพัฒนาขั้นที่ 3 แล้ว จำนวน 6,000 ชุมชน สร้างเครือข่ายเรียนรู้ไปยังชุมชนข้างเคียงอย่างน้อยชุมชนต้นแบบ ละ 5 แห่ง นอกจากนั้นยังพัฒนาศูนย์เรียนรู้ นำร่อง 9 แห่งและขยายผลเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. 84 แห่ง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกรตามภูมิสังคม รวมกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักกปร.)จัดทำมาตรฐานกระบวนการศูนย์เรียนรู้ฯ ได้แก่ ผู้นำ แผนชุมชน การมีส่วนร่วม การประเมินผล การจัดการความรู้ การเน้นบุคลากร และฐานเรียนรู้เพื่อขยายผลไปสู่ไปสู่ศูนย์เรียนรู้ใน 3 มิติ มิติทางสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป้าหมายศูนย์เรียนรู้ทั้งหมด 315 แห่ง โดยใช้งบประมาณ 405 ล้านบาท

แผนงานที่ 2 การพัฒนาต้นแบบเกษตรกรทันสมัย (Smart Farmer) เพื่อสร้างต้นแบบเกษตรกรทันสมัยที่มีความสามารถในการพัฒนาอาชีพเกษตร การใช้ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีที่เหมาะสม ให้เกิดประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม ขยายผลไปสู่เกษตรกรรายอื่น ๆ เป้าหมาย 3 ปี ปีละ 1,000 คน รวม 3,000 คน โดยใช้งบประมาณ รวม 30 ล้านบาท

แผนงานที่ 3 การพัฒนาต้นกล้าทายาทเกษตรกรมืออาชีพ โดยรับสมัครทายาทเกษตรกรที่สมัครใจ นำมาพัฒนาด้วยการปรับเปลี่ยนทัศนคติ การสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพการเกษตร ฝึกปฏิบัติจริง ร่วมกับสถาบันการศึกษา จัดทำแผนธุรกิจ ลงมือปฏิบัติในแปลงเกษตรของตนเอง และสรุปผลการเรียนรู้ รวม 3 ปี ปีละ 200 คน รวมทั้งสิ้น 600 คน โดยใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท

แผนงานที่ 4 การพัฒนาสหกรณ์ต้นแบบ พัฒนาสหกรณ์การเกษตร(สกก.) และสหกรณ์การตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ให้สามารถทำหน้าที่ในการรวบรวมแปรรูป การตลาด ตลอดจนธุรกิจเครดิตให้สมาชิกเกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการพัฒนา 3 ขั้น คือ ขั้นที่ 1สหกรณ์พึ่งตนเอง

บริหารจัดการพึ่งตนเอง สามารถรักษาสถานการณ์ดำเนินงานที่มั่นคงมีผลประกอบการดี ขั้นที่ 2 สหกรณ์การพัฒนา เป็นการพัฒนาสหกรณ์ให้สามารถดำเนินธุรกิจขาย เสริมสร้างความเข้มแข็งในการมีส่วนร่วมของสมาชิกกับสหกรณ์อย่างสม่ำเสมอ ขั้นที่ 3 สหกรณ์ต้นแบบ เป็นสหกรณ์ที่สามารถบริหารการดำเนินธุรกิจ ได้ครบ 4 ด้าน ธุรกิจเครดิต ธุรกิจซื้อ ธุรกิจขาย และธุรกิจบริการ อย่างมีมาตรฐานบนพื้นฐานของหลักสหกรณ์ที่ดี สามารถเป็นต้นแบบให้สหกรณ์อื่น ๆ ได้ รวมทั้งสิ้น 1,111 แห่ง โดยใช้งบประมาณ 75 ล้านบาท

และแผนงานที่ 5 การพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจชุมชน เป็นการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้นำ เกษตรกรคนเก่ง ครูเกษตรกร และวิทยากรฐานเรียนรู้ในศูนย์เรียนรู้ฯ คัดเลือกไปศึกษาดูงานในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่นญี่ปุ่น ไต้หวัน สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐเกาหลี เป้าหมาย ปีละ 200 คน รวม 600 คน โดยใช้งบประมาณ 60 ล้านบาท

การจัดทำโครงการดังกล่าว จะบูรณาการความร่วมมือของภาคีโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรไทยตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดย มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ประสบความสำเร็จในสาขาต่าง ๆ ประกอบด้วย ชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 8,000 ชุมชน ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. จำนวน 315 แห่ง เกษตรกรคนเก่ง ครูเกษตรกร และเกษตรกรทันสมัย จำนวน 3,000 คน ทายาทเกษตรกร จำนวน 600 คน สหกรณ์การเกษตร (สกก.) จำนวน 1,034 แห่ง และสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาด (สกต.) จำนวน 77 แห่ง ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าว จะประสานการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคีพัฒนา ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย สำนักงานขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย สถาบันการศึกษา สภาเกษตรกรแห่งชาติ และมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค (มจส.)

“ธ.ก.ส.หวังว่าจะได้ต้นแบบของเกษตรกรทันสมัย จำนวน 500 คน ต้นแบบชุมชนที่เข้มแข็ง จำนวน8,000 แห่ง และ ต้นแบบสหกรณ์ที่ดี จำนวน 249 แห่ง เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาดูงาน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเกษตรกร สร้างโอกาสในการเข้ามาเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเชื่อมโยงการตลาด ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าการเพิ่มผลผลิต 9 พืชหลัก จำแนกเป็นเกษตรกรประมาณ 3,000,000 ราย ชุมชนประมาณ 30,000 ชุมชน และสหกรณ์การเกษตรประมาณ 1,111 แห่ง” นายลักษณ์กล่าว.

สำนักประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ธ.ก.ส.

โทร 02 558 6100 ต่อ 6733, 6734,6740

ที่มา : กระทรวงการคลัง

ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ