ก.วิทย์ฯ ตั้งวอร์รูมเสริมทัพรัฐบาลแก้ภัยแล้ง มอบปลัดนั่งหัวโต๊ะบัญชาการ พร้อมส่งแพคเกจช่วยเหลือเกษตรกรแบบทันท่วงที

ข่าวทั่วไป Friday July 3, 2015 15:42 —สำนักโฆษก

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ 2 ก.ค. / ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า จากปัญหาภัยแล้งที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วน จึงตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาภัยแล้งในรูปแบบวอร์รูม สนับสนุนภารกิจรัฐบาลในการแก้ปัญหาภัยแล้งของประเทศ โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 แนวทางคือ 1.สนับสนุนข้อมูลสถานการณ์และการคาดการณ์ 2.สนับสนุนการเยียวยาบรรเทาปัญหา และ 3.สนับสนุนทางเลือกการแสวงหาแหล่งน้ำใหม่ ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าว ตนได้มอบหมายให้ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานและมีคณะทำงานมาจากผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด ได้แก่สำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(สสนก.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) และ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ทั้งนี้ประชาชนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่หมายเลข 1313

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดแพคเกจช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งที่พร้อมนำไปใช้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันที ประกอบด้วย การพัฒนาระบบคลังข้อมูลสภาพน้ำ โดย สสนก. นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำไว้ในระบบเดียวกัน ให้บริการผ่านเว็บไซต์ www.thaiwater.net เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำ และประชาชนทั่วไปสามารถติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำได้เป็นปัจจุบัน ทั้งนี้ ข้อมูลสำคัญที่นำเสนอผ่านระบบคลังข้อมูลน้ำ ได้แก่ ข้อมูลเพื่อการติดตามสภาพอากาศ เช่น เส้นทางพายุ ภาพถ่ายดาวเทียม การติดตามและคาดการณ์สภาพอากาศจากค่าความสูงน้ำทะเล และอุณหภูมิผิวน้ำทะเล แผนภาพคาดการณ์ฝนล่วงหน้า 7 วัน จากแบบจำลองสภาพอากาศ (WRF Model) และข้อมูลเพื่อการติดตามสถานการณ์น้ำ เช่น ข้อมูลฝนตกในพื้นที่ ปริมาณและระดับน้ำในเขื่อน เส้นทางน้ำและระดับน้ำในลุ่มน้ำ

ขณะที่ สทอภ. จัดทำระบบแผนที่กลางเพื่อติดตามพื้นที่ภัยแล้ง สนับสนุนการตัดสินใจและการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขและบรรเทาปัญหาภัยแล้งของประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม ติดตาม วิเคราะห์ และตรวจสอบสถานการณ์ภัยแล้งได้ครอบคลุมทั้งประเทศ ลอดจนใช้เป็นข้อมูลในการชี้เป้าพื้นที่สำคัญเพื่อขุดเจาะบ่อบาดาล ซึ่งเป็นการสนับสนุนทางเลือกเพื่อการแสวงหาแหล่งน้ำใหม่ให้กับชุมชน นอกจากนี้ mระบบดังกล่าวยังช่วยสนับสนุนการตัดสินใจให้แก่เกษตรกรในการเลือกปลูกพืชเพื่อทดแทนข้าวจำพวกพืชล้มลุก ที่แสดงให้เห็นถึงความเหมาะสมของดิน สภาพฝนจากข้อมูลในอดีต แหล่งน้ำ แหล่งรับซื้อผลผลิตทั่วประเทศผ่านทาง “ระบบบูรณาการ การบริการแผนที่กลางของประเทศ” หรือ (NGIS Map Portal) ตามบัญชาของท่านนายกรัฐมนตรีด้วย

สวทช. โดย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกับ สสนก. พัฒนาเครื่องกรองน้ำดื่มจากน้ำกร่อยด้วยเทคโนโลยี ไส้กรองนาโนเพื่อแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกแม่น้ำสายหลักที่กระทบต่อพื้นที่การเกษตรและระบบผลิตน้ำประปา ในขณะที่ วว. ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาเครื่องกรองน้ำระบบน้ำไหลผ่านเส้นใยสังเคราะห์และเครื่องกรองน้ำทะเลเป็นน้ำจืดแบบรีเวิร์สออสโมซีสและยังให้บริการทดสอบเครื่องกรองน้ำดื่มและไส้กรองความขุ่นตามข้อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ด้าน วศ. เตรียมหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งเป็นทีมงานนักวิทยาศาสตร์ที่พร้อมลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำผิวดินเพื่อทดสอบคุณภาพน้ำ ในกรณีที่หน่วยงานในพื้นที่พบปัญหาหรือข้อสงสัยเรื่องคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำที่อาจส่งผลต่อระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศ หน่วยเคลื่อนที่นี้ จะลงพื้นที่ให้บริการเก็บตัวอย่างน้ำผิวดินเพื่อนำมาทดสอบในห้องปฏิบัติการ โดยให้บริการทดสอบคุณภาพน้ำด้วยวิธีทดสอบที่เป็นมาตรฐาน

สทน. ผลิตพอลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูงที่สามารถย่อยสลายจากผลิตจากแป้งมันสำปะหลัง มีศักยภาพในการนำไปประยุกต์ใช้ในทางการเกษตรเพื่อรักษาความชื้นของดิน เป็นการเพิ่มมูลค่าของแป้งมันสำปะหลัง ลดปริมาณการใช้น้ำในการเกษตร สามารถแก้ปัญหาการเพาะปลูกในพื้นที่แห้งแล้ง และลดการนำเข้าพอลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูงจากต่างประเทศได้ นอกจากนี้ สทน.ยังได้นำองค์ความรู้ด้าน ไอโซโทปอุทกวิทยา ประเมินแหล่งน้ำบาดาล และปริมาณน้ำบาดาลเพื่อสามารถค้นหาแหล่งน้ำบาดาลใหม่ๆ ไว้ใช้ในภาวะแล้ง สามารถบริหารจัดการน้ำ และควบคุมมลภาวะ โดยนำมาใช้แทนที่หรือสนับสนุนวิธีการเดิมที่ใช้การวัดน้ำฝน แม่น้ำ และแหล่งน้ำต่างๆ

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า นอกจากจะบริหารจัดการน้ำและพื้นที่เพาะปลูกแล้ว กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้มีมาตรการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพด ถั่วเขียว ทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง ขณะเดียวกัน สวทช. ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวทนแล้งด้วย

ประสานงานได้ที่ : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

อีเมลล์ : pr@most.go.th

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ