นายกรัฐมนตรีเร่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Thursday July 16, 2015 17:25 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี เปิดงาน Thailand Competitiveness Conference 2015 ย้ำการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีภาคเอกชนเป็นผู้นำและภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี และสร้างกลไกการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพและพัฒนาต่อเนื่องในระยะยาว

วันนี้ (16 ก.ค. 58) เวลา 09.25 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน Thailand Competitiveness Conference 2015 ซึ่งจัดโดยสมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย(Thailand Management Association: TMA) ณ ห้อง คริสตัล ฮอลล์ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 400 คน ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้แทนภาครัฐและเอกชน

สำหรับสาระสำคัญของคำกล่าวนายกรัฐมนตรี พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่ได้มาเปิดงานสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2015 ซึ่งเป็นงานที่รวบรวมวิทยากรที่มีความรู้ความชำนาญในการบริหารที่เป็นผู้นำทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามสร้างความไว้เนื้อ ลดความหวาดระแวง และสร้างผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมให้ทุกฝ่าย รัฐบาลพร้อมจะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ไปศึกษาและปรับใช้ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศจำเป็นต้องอาศัยการประสานความร่วมมือจากทุกๆฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพราะทุกคนล้วนแต่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเป็นผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์ทั้งสิ้น

สำหรับการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ทั้งจากสถาบัน IMD และ WEF (World Economic Forum) และการจัดอันดับด้าน Ease of Doing Business ของ World Bank ทำให้เราทราบถึงสถานะความสามารถและศักยภาพของประเทศว่าเป็นอย่างไร ต้องแก้ไขและปรับปรุงในเรื่องใด และจะต้องส่งเสริมเพิ่มเติมในเรื่องไหนบ้าง ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 30 จากทั้งหมด 61 ประเทศ โดยปัจจัยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจอยู่ในอันดับที่ 13 ด้านศักยภาพของภาครัฐอยู่ในอันดับที่ 27 ด้านศักยภาพทางธุรกิจอยู่ในอันดับที่ 24 และด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมในประเด็นด้านสาธารณสุข การศึกษา เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และทรัพยากรมนุษย์อยู่ที่อันดับ 46

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังติดอยู่ในกับดักอันดับที่ 25-30 มาโดยตลอดนานนับ 10 ปี ดังนั้น ประเทศไทยต้องกำหนดทิศทางและวิสัยทัศน์ของประเทศให้ชัดเจนเพื่อปรับตัวให้ทันสถานการณ์ของโลก เช่น การพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปพร้อมๆกับการนำจุดเด่นของประเทศมาพัฒนาต่อยอดในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเน้นการให้การศึกษาแก่ประชาชนในทุกระดับ รวมถึงการพัฒนาฝีมือแรงงานของไทยและการดูแลบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้พร้อมก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งต้องอาศัย 3 ปัจจัยหลักประกอบกัน ได้แก่

ประเด็นที่ 1 จะต้องอาศัยภาคเอกชนโดยเฉพาะการพัฒนาในระดับองค์กร และมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนทางด้านกฎระเบียบและการบริการ โดยภาครัฐต้องปรับการทำงานให้ตรงความต้องการของเอกชนเพื่อให้การทำธุรกิจมีความราบรื่น ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 6 กลุ่ม ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คือ 1.) ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค 2.) ด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ 3.) ด้านการพัฒนาเชิงกายภาพ 4.) ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 5.) ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐและการพัฒนากระบวนการทางศุลกากร 6.) ด้านการจัดการข้อมูลและการสื่อสารประชาสัมพันธ์

โดยภาครัฐมีหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและการลงทุนเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นทางถนน มอเตอร์เวย์ ระบบราง รถไฟฟ้า การสร้างท่าเรือทั้งเชิงพาณิชย์/การท่องเที่ยว ปรับปรุงสนามบิน รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมทางด้านอากาศยาน ระบบสาธารณูปโภคทั้งประปาและไฟฟ้า การบริหารจัดการน้ำ โรงกำจัดขยะ การสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน

ประเด็นที่ 2 คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการยกระดับความสามารถการแข่งขัน หากมีการพัฒนาบุคลากรอย่างเหมาะสมและมีการบริหารจัดการที่ดีก็จะสามารถสร้างความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ทั้งนี้ ต้องปลูกฝังการศึกษาเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ปลูกฝังกระบวนการคิด ธรรมาภิบาล คุณธรรม จริยธรรม ให้แก่เยาวชน ซึ่งจะทำให้เด็กมีพัฒนาการและพร้อมเติบโตด้วยศักยภาพที่จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับบ้านเมืองได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงต้องส่งเสริมให้มีการพัฒนาเยาวชนที่มีทักษะฝีมือทางด้านแรงงานซึ่งเป็นแรงงานที่ขาดแคลนและมีความสำคัญในอนาคต โดยต้องมีการปรับค่านิยมด้านการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่ในปัจจุบันเรายังขาดแรงงานสายอาชีพ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมหลายประเภท ในขณะที่ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีอัตราการว่างงานสูงกว่าโดยรัฐบาลเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควรตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจเอกชนหรือสังคม

ประเด็นที่ 3 คือ ประเทศไทยต้องมีกลไก การกำกับดูแลและติดตามผลที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาระยะยาว โดยหน่วยงานกลางนี้จะทำหน้าที่ดูแลการปฏิบัติงานและประเมินความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขัน โดยมีอำนาจสนับสนุนให้เกิดผลตามแผนปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้การพัฒนาความสามารถการแข่งขันของประเทศประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน

รัฐบาลได้กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทย พ.ศ. 2558-2563 “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ เพื่อนำไปสู่การวางรากฐานการพัฒนาประเทศที่แข็งแกร่ง โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนนำไปใช้ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อผลักดันให้เห็นผลออกมาเป็นรูปธรรม และเพื่อวางแนวทางการพัฒนาและปฏิรูปให้เกิดความต่อเนื่อง

โดย “มั่นคง” หมายถึง การมีเสถียรภาพทางการเมืองประชาชนต้องมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีหลักนิติรัฐที่เข้มแข็ง และมีความยุติธรรม ซึ่งการที่ประเทศเกิดความสงบสุขสันติ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้อย่างเข้มแข็ง และเป็นพื้นฐานที่จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสามารถดึงศักยภาพที่มีอยู่ออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลกำลังเร่งปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพรวมทั้งปรับปรุงกฎหมาย และระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน

“มั่งคั่ง” หมายถึง การทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามสมควรแก่ฐานะ การทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยต้องร่วมกันกับประเทศต่างๆอาเซียนเพื่อสร้างภูมิภาคให้เข้มแข็ง มั่นคง และมั่งคั่ง มุ่งยกระดับภาคการผลิตและบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

“ยั่งยืน” หมายถึง การคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งต้องยึดความต้องการของประชาชนเป็นหลักต้องเริ่มจากการเข้าใจปัญหาที่แท้จริงจากพื้นที่หรือจากชุมชน ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหมาะสมตามกำลังความสามารถของตนเอง ใช้หลักเหตุและผลและการรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง หรือการมีภูมิคุ้มกันตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเน้นเรื่องความเข้มแข็งจากภายในตัวบุคคลชุมชนและสังคม

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนจะต้องตระหนักถึงความสำคัญ เพราะในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ รวมทั้งต้องสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคให้มากขึ้น และเชื่อมโยงกับโลกด้วย โดยภาคเอกชนจะเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในขณะที่ภาครัฐจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนโดยการดำเนินนโยบายการปรับปรุงสภาวะแวดล้อมต่างๆที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ และให้บริการช่วยเหลือสนับสนุนปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ภาคธุรกิจแข่งขันได้ แต่ความท้าทายที่สำคัญ คือทำอย่างไรให้นโยบายของภาครัฐต่างๆที่มีอยู่สามารถดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงักแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งต้องร่วมกันสร้างระบบสถาบันที่แข็งแกร่งทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ประเทศก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง เศรษฐกิจมีความมั่งคั่ง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศในระยะยาวที่ยั่งยืน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ