รองโฆษกรัฐบาลยืนยันรัฐบาลไม่ทอดทิ้งประชาชนภาคการเกษตรสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งตามลำดับความเร่งด่วน

ข่าวทั่วไป Tuesday July 21, 2015 16:39 —สำนักโฆษก

วันนี้ (21 ก.ค.58) เวลา 15.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ ถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีปรารภและสั่งการต่อที่ประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงเรื่องการบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 กระทรวง ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงไปแล้ว โดยวันนี้เราต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะภาคการเกษตรซึ่งรัฐบาลยืนยันไม่ได้ทอดทิ้งในการที่จะดูแลและให้ความช่วยเหลือ เพียงแต่จะต้องกำหนดลำดับความเร่งด่วนในพื้นที่ที่จำเป็นจะต้องดูแลก่อนเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย โดยอาศัยการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และทหาร ในการที่จะชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับการจัดลำดับความเร่งด่วนในการช่วยเหลือพื้นที่เกษตร ขณะเดียวกันก็ต้องลดการระบายน้ำลง ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบปรับลดการระบายน้ำวันละ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร จนให้เหลือวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้ระบบประปายังสามารถดำเนินต่อไปได้

ส่วนเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานจัดตั้งศูนย์บริการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยแล้งที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ใน 53 จังหวัด นั้น มีประชาชนส่วนหนึ่งยินดีที่จะร่วมสมทบด้วย ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าเป็นเรื่องที่เราสามารถที่จะรวมน้ำใจความรักความสามัคคีของคนไทย จึงประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมเพื่อให้เกิดพลังความสามัคคีตรงนี้ ขณะเดียวกันในแต่ละพื้นที่เจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองก็จะร่วมกันบริหารจัดการในส่วนที่ได้รับมอบหมาย ขณะที่ส่วนกลางเป็นความริเริ่มของแต่ละหน่วยงาน เช่น กองทัพบก ที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมได้ชี้แจงว่ากรมทหารราบที่ 11 กรมทหารราบที่ 1 จะนำน้ำที่ประชาชนมาบริจาคไปสมทบในจุดต่าง ๆ ที่ได้จัดตั้งเอาไว้ ทั้งในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองกำหนดเป้าหมายให้

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย ยังได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขออนุมัติหลักการเกี่ยวกับการใช้เงินให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในลักษณะของการป้องกัน หรือการยับยั้งภัยพิบัติ ทั้งนี้เนื่องจากเงินดังกล่าวจะใช้ในเรื่องของการป้องกันและยับยั้ง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งแล้ว ซึ่งหากนำเงินตรงนี้มาใช้ก็จะผิดกฎระเบียบ อาจจะทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดถูกตั้งข้อหาได้ว่าใช้เงินผิดประเภทไม่ถูกต้องตามหลักการ เพราะฉะนั้นวันนี้กระทรวงมหาดไทยจึงได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการเพื่อให้สามารถที่จะนำเงินที่มีอยู่ จังหวัดละ 10 ล้านบาท ไปใช้แก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบในหลักการ โดยการปฏิบัติกระทรวงมหาดไทยจะต้องนำรายละเอียดเรื่องพื้นที่ การปฏิบัติที่รวบรวมไว้แล้วประสานงานกับกระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางจะดำเนินการปรับแก้ไขกฎ ระเบียบ ให้สามารถดำเนินการได้ภายใน 1 – 2 วันนี้ อย่างไรก็ตามนอกจากเงินในส่วนนี้แล้ว ยังจะมีเงินของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งด้วย โดยเป็นการทำงานบูรณาการทั้ง 3 ส่วน คือทหาร ฝ่ายปกครอง และกระทรวงเกษตรฯ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้มีการประสานข้อมูลกันอย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การจ้างงานในแต่ละพื้นที่ไม่ทับซ้อนกันและสามารถนำเงินที่มีอยู่ไปช่วยเหลือประชาชนได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ตลอดจนจะต้องดูแลรับผิดชอบประชาชนทุกกลุ่มทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรที่ให้ความร่วมมือไม่ปลูกข้าว หรือเกษตรกรที่ปลูกข้าวไปแล้ว โดยให้จัดลำดับความเร่งด่วนการช่วยเหลือในแต่ละพื้นที่

พร้อมกันนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายกลางที่จะกำหนดขั้นตอนระยะเวลาในการพิจารณาอนุญต และจัดตั้งศูนย์บริการร่วมรับคำขออนุญาต ณ จุดเดียว มีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ว่า วันนี้เมื่อประชาชนไปติดต่อราชการกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จะได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ โดยจะมีขั้นตอนและระยะเวลากำหนดไว้เกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ที่ชัดเจนในแต่ละหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนจะต้องอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่าเนื่องจากเป็นวันเริ่มต้นของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ทุกส่วนจะต้องปรับตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ส่วนราชการต่าง ๆ จะต้องเร่งรัดดำเนินการ ทำงานตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ แต่ขณะเดียวกันขอความร่วมมือประชาชนทุกส่วนอย่าถึงขนาดว่าไปยื่นเอกสารแล้วต้องจับเวลาว่าผ่านไป 3 นาที หรือ 15 นาที แล้วก็มีการร้องเรียน เพราะไม่อย่างนั้นก็กลายเป็นคดีมโนสาเร่ไป จึงขอให้เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ส่วนราชการทุกส่วนตั้งใจที่จะดำเนินการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนอยู่แล้ว เพียงแต่ในช่วงนี้เป็นช่วงของการปรับตัวแต่เชื่อว่าระยะเวลาไม่นานจากนี้ไปทุกส่วนจะสามารถปรับตัวได้

ส่วนกรณีการใช้ท่าอากาศยานทั้งดอนเมืองและสุวรรณภูมิในการเดินทางขึ้นเครื่องบินในประเทศหรือต่างประเทศ นั้น นายกรัฐมนตรี ได้ปรารภว่า ต้องมีการเร่งรัดในการดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนคนไทยและต่างชาติที่จะเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ต้องไม่ละเลยมาตรฐานความปลอดภัยของมาตรฐานการบินที่ยังมีปัญหาอยู่ โดยรัฐมนตรีว่การกระทรวงคมนาคม ได้รายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบว่า ขณะนี้ได้มีการปรับแก้ไขเรียบร้อยแล้ว และวิธีการดังกล่าวจะทำให้การบริการสำหรับผู้ใช้บริการสนามบินรวดเร็วขึ้นและเสียเวลาน้อยลง โดยการดำเนินการตรวจสอบสัมภาระในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิปัจจุบันเป็นไปตามมาตรฐานสากล ส่วนสนามบินดอนเมือง ทางท่าอากาศยานไทยจะมีการจัดเจ้าหน้าที่ จำนวน 30 คน ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ในส่วนหลังจากที่ได้มีการเอ็กซเรย์กระเป๋าแล้วไปจนกระทั่งเช็คอิน เพื่อไม่ให้เกิดการนำหรือหยิบสิ่งของไปใส่กระเป๋าที่เอ็กซเรย์แล้ว ซึ่งเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้มาตรฐานปลอดภัยอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและสามารถลดระยะเวลาในการเดินทางโดยสายการบินได้ พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ฝากให้ดำเนินการเรื่องการบริหารจัดการและจัดระเบียบการจราจรในพื้นที่สนามบินดอนเมืองให้ดีขึ้น

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ