รองโฆษกรัฐบาลเผยรัฐบาลขอความร่วมมือหน่วยงานราชการทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด โดยต้องลดการใช้น้ำลงให้ได้อย่างน้อย 10%

ข่าวทั่วไป Tuesday July 28, 2015 14:27 —สำนักโฆษก

วันนี้ (28 ก.ค.58) เวลา 14.15 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ ถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีปรารภและสั่งการต่อที่ประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

กรณีมีรายงานการค้ามนุษย์ (TIP Report) ปี 2558 ยังจัดให้ประเทศไทยคงอยู่ในอันดับ Tier 3 นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าประเทศไทยไม่กังวลและไม่ท้อแท้ เพราะรัฐบาลและคนไทยรู้ดีว่าขณะนี้เราดำเนินการอะไรอยู่ และมีความก้าวหน้าในเรื่องดังกล่าวเพียงมใด ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็มีมาตรการต่าง ๆ ที่ค่อนข้างเข้มข้น โดยสิ่งที่เป็นรูปธรรมชัดเจนคือมีการดำเนินคดีกับขบวนการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการค้ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ จำนวน 70 กว่าราย และมีการยึดและอายัดทรัพย์กว่าหนึ่งร้อยล้านบาท รวมทั้งได้มีการติดตามช่วยเหลือผู้ที่เป็นเยื่อของการค้ามนุษย์ และประเทศไทยยังเป็นประเทศแรกที่ผลักดันให้มีการเริ่มต้นประชุมประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางในภูมิภาค เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ยืนยันประเทศไทยเคารพในสิทธิของมนุษยชนเสมอ โดยมีจุดยืนคือจะไม่ยอมให้ขบวนการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการค้ามนุษย์ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านในเรื่องของการค้ามนุษย์โดยเด็ดขาด ซึ่งตรงนี้คือแนวทางที่ชัดเจนที่ประเทศไทยได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับมาโดยตลอด ส่วนประเทศใดจะจัดลำดับประเทศไทยอย่างไรนั้นก็เป็นเรื่องของแต่ละประเทศซึ่งจะต้องชี้แจงกับสังคมเองว่าเขามีมาตรฐาน กฎเกณฑ์ กติกา และหลักการอย่างไร ในการที่จะกำหนดการให้คะแนนและจัดลำดับประเทศไหนอยู่ในลำดับใด ซึ่งในส่วนของประเทศไทยก็ไม่รู้สึกกังวลหรือเป็นห่วงในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งว่า ขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มดีขึ้น เพราะมีปริมาณฝนตกและมีน้ำไหลเข้า 4 เขื่อนหลักในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น โดยมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมากกว่าปริมาณน้ำที่ระบายออกในแต่ละวัน ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติกำหนด ที่จะให้มีการลดการระบายน้ำจากเดิมวันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยให้ลดลงวันละ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร จนเหลือ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้ามากกว่าปริมาณน้ำที่ระบายออก อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรี ได้กำชับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่าเพิ่งวางใจต่อเรื่องนี้แต่ต้องมีการเตรียมมาตรการต่าง ๆ ในการที่จะดูแลเรื่องดังกล่าวด้วย โดยมีการรณรงค์สร้างการรับรู้ให้ทุกภาคส่วนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดได้เกิดความตระหนักในการที่จะร่วมกันประหยัดน้ำไม่เฉพาะเกษตรกรเท่านั้น ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าส่วนราชการมีการใช้น้ำประมาณ 19 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติจะมีแนวทางในการที่จะลดการใช้น้ำของหน่วยงานภาครัฐลงให้ได้อย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ของการใช้น้ำ 19 เปอร์เซ็นต์ดังกล่ว สำหรับแนวทางในการที่จะลดการใช้น้ำมีการดำเนินการต่าง ๆ อาทิ การตรวจสอบการรั่วไหลของน้ำ การตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำไม่ให้มีจุดรั่วซึม และการรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการประหยัดน้ำทั้งน้ำอุปโภคและบริโภค เป็นต้น

ส่วนเรื่องความขัดแย้งในสังคมโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่กำหนดแนวทางในการดำเนินการและขั้นตอนที่ชัดเจนนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงส่วนราชการที่เกี่ยวข้องว่า อย่าปล่อยเรื่องดังกล่าวให้เป็นภาระของหน่วยงานในลำดับรองไปไม่ได้ เพราะถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันตั้งแต่ระดับกระทรวง โดยจะต้องมีการทำความเข้าใจกับประชาชนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่จะต้องได้รับทราบข้อมูล หลักการ เหตุผลและประโยชน์ของโครงการนั้น ๆ ที่ประชาชนและประเทศชาติจะได้รับ เพื่อจะรับฟังเสียงตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตาม หากมีการเชิญเฉพาะบุคคลที่เห็นด้วย หรือเห็นสอดคล้องกับโครงการของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว ในวันข้างหน้าเมื่อโครงการดำเนินการได้สักระยะก็จะทำให้มีปัญหาเหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา เช่น กรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ เป็นต้น เพราะฉะนั้นการดำเนินการจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่เริ่มโครงการ เพื่อให้โครงการที่จะดำเนินการสามารถเดิหน้าได้ โดยต้องคำนึงถึงประชาชนหรือผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการนั้น ๆ ในพื้นที่และต้องมีการหามาตรการดูแลรองรับไว้ด้วย

สำหรับกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่นั้น กระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ของรัฐยังต้องดำเนินการต่อไป เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อนักลงทุน โดยต้องมีการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกังวลหรือแนวทางต่าง ๆ กับประชาชนในพื้นที่และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย กลุ่มผู้เห็นแย้ง ส่วนราชการที่เกี่ยข้องกับโครงการนั้น ๆ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแต่ละเรื่อง ซึ่งตรงนี้ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการศึกษาการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment : EHIA) ด้วย แต่อย่างไรก็ตามขอให้หน่วยงานราชการระมัดระวังเกี่ยวกับการแจกเอกสารและของชำร่วย กรณีที่ได้มีการเชิญประชาชนเข้ามาร่วมหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการจัดทำโครงการต่าง ๆ เพราะอาจจะทำให้ถูกมองว่าหน่วยงานราชการแจกเป็นของกำนัลเพื่อให้ประชาชนมีความคิดเห็นคล้อยตามกับโครงการของรัฐ

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ