การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนของ ศธ.

ข่าวทั่วไป Tuesday July 21, 2015 17:25 —สำนักโฆษก

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนและการดำเนินการภายหลังปี 2558 ของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 2/2558 ว่าที่ประชุมได้เห็นชอบการจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านอาเซียนของกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งเห็นชอบโครงการพัฒนาประเทศไทยเป็น Education Hub ในภูมิภาค พร้อมเตรียมเผยแพร่แผนยุทธศาสตร์อาเซียนด้านการศึกษากว่า 5 หมื่นเล่มไปยังสถานศึกษาและหน่วยงานทั่วประเทศ

เห็นชอบจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านอาเซียน ของกระทรวงศึกษาธิการ

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ การจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านอาเซียนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมอบสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงาน และให้มีการยกร่างคำสั่งจัดตั้งศูนย์ฯ ตลอดจนพิจารณาแนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เช่น การกำหนดภารกิจอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน แนวทางการบริหารงานในระยะเริ่มต้น และจัดหาสถานที่ตั้งชั่วคราว โดยการจัดตั้งศูนย์นี้ก็เพื่อจะให้เป็นหน่วยงานกลางในการประสานการดำเนินงานด้านอาเซียน เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนนโยบายอาเซียนสู่การปฏิบัติในระดับภูมิภาค เป็นแหล่งข้อมูล แหล่งศึกษาค้นคว้า และเผยแพร่เกี่ยวกับการดำรงอยู่ของกลุ่มอาเซียน ตลอดจนเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้และฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของประชาชนในการแข่งขันระดับนานาชาติ

เห็นชอบโครงการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขยายจำนวนโรงเรียนที่จัดห้องเรียนพิเศษรองรับนักเรียนไทยและนักเรียนต่างชาติในประชาคมอาเซียน ตามโครงการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค (Education Hub) ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อต่อยอดการจัดห้องเรียนพิเศษใน 14 โรงเรียนนำร่องที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2553 โดยให้มีการบูรณาการการทำงานกับสถานศึกษาทุกสังกัดขององค์กรหลักที่อยู่ในแต่ละจังหวัด และดำเนินงานให้สอดคล้องศูนย์ประสานงานด้านอาเซียนของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเริ่มต้นในสถานศึกษาที่มีความพร้อมตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 เป็นต้นไป จนกว่าจะครบตามเป้าหมายคืออย่างน้อยจังหวัดละ 2 โรงเรียน

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาประเทศไทยเป็น Education Hub ในภูมิภาค ก็เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาให้มีความเป็นนานาชาติ และเตรียมความพร้อมรองรับนักเรียนไทยและนักเรียนต่างชาติในประชาคมอาเซียน ตลอดจนนโยบายเปิดเสรีทางการศึกษา มีแนวทางการบริหารจัดการการจัดการเรียนการสอนโดยยึด “คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน” เป็นสำคัญ ได้แก่ Study Skills, Morality, Attitude, Responsibility, Technology มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย อาทิ โปรแกรมนานาชาติ โปรแกรมพหุภาษา โปรแกรมวิทย์-คณิต เป็นต้น

เตรียมเผยแพร่แผนยุทธศาสตร์อาเซียนด้านการศึกษา 5 หมื่นเล่ม

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์อาเซียนด้านการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ ตีพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในฉบับเดียวกันจำนวน 50,000 เล่ม เพื่อเผยแพร่ไปยังองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับ และหน่วยงานสถานศึกษาในสังกัด เพื่อยึดถือเป็นแนวปฏิบัติงานโดยทั่วกัน

ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์อาเซียนด้านการศึกษาได้เน้นการเสริมสร้างความเข้าใจ ใฝ่รู้ภาษา มุ่งพัฒนาสัมพันธ์ รู้เท่าทันเทคโนโลยี สานสามัคคีอาเซียน (พ.ศ.2558-2562) เป็นทิศทางและแนวทางที่กำหนดขึ้นรองรับกรอบความร่วมมือของประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ทั้ง 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม

โดยมีวิสัยทัศน์ “คนไทยมีศักยภาพพร้อมอยู่ในประชาคมอาเซียนอย่างมีคุณภาพ” และมีเป้าหมายให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจประเทศสมาชิกอาเซียนทุกด้าน มีทักษะภาษาต่างประเทศทั้งภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน ผู้เรียนมีสมรรถนะตามกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน และสถานศึกษามีคุณภาพตามมาตรฐานสากล โดยกำหนด 6 ยุทธศาสตร์ 10 มาตรการเร่งด่วน เป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการทำงาน คือ

6 ยุทธศาสตร์ : ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยกระดับคุณภาพและสร้างโอกาสทางการศึกษา ยุทธศาสตร์ที่ 3 ผลิตกำลังคนให้มีทักษะสอดรับกับตลาดแรงงานอาเซียน ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนากลไกที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการเคลื่อนย้าย/แลกเปลี่ยน ยุทธศาสตร์ที่ 6 เสริมสร้างเครือข่ายระหว่างกันในภูมิภาค

10 มาตรการเร่งด่วน ที่จะต้องดำเนินการภายในปี 2558 : พัฒนาศูนย์อาเซียนศึกษา - จัดตั้งศูนย์ประสานงานและขับเคลื่อนอาเซียนศึกษาในระดับชาติ กลุ่มจังหวัดและจังหวัด -จัดตั้งกองทุนพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา-ส่งเสริมให้มียุวทูตอาเซียน-ผลักดันโครงการสุดยอดครูดีเด่น-สนับสนุนกิจกรรมนักเรียนนักศึกษาในประชาคมอาเซียน-ส่งเสริมการเรียนการสอนคู่ขนาน-เพิ่มจำนวนโรงเรียนตามโครงการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคในทุกจังหวัด-ยกระดับความรู้และทักษะภาษาอังกฤษ/ภาษาอาเซียนของครู/ผู้บริหาร-พัฒนาการเชื่อมโยงระบบคุณวุฒิของประเทศ

นวรัตน์ รามสูต

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ