โฆษกรัฐบาลเผยนายกรัฐมนตรีมอบหมายงานรองนายกรัฐมนตรี เน้นสร้างความเข้าใจควบคู่กับการสร้างความไว้ใจกับประชาชน หวัง ครม.ชุดใหม่ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศเดิหน้าต่อไปให้ได้

ข่าวทั่วไป Tuesday August 25, 2015 17:24 —สำนักโฆษก

วันนี้ (25 ส.ค.58) เวลา 13.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ ถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีปรารภและสั่งการต่อที่ประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต้อนรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และขอบคุณคณะรัฐมนตรีชุดเดิมที่ได้ร่วมทำงานกันมาด้วยความเสียสละและได้วางรากฐานเรื่องต่าง ๆ เอาไว้เรียบร้อยแล้วระดับหนึ่ง ส่วนที่มีบางเรื่องที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จก็จะต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งหวังว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะร่วมกันและตั้งใจดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าต่อไปให้ได้ ขณะเดียวกันต้องชี้แจงให้สังคมรับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินโครงการระยะยาวต่าง ๆ ด้วย และต้องให้ความสำคัญกับช่วงระยะเวลาที่รัฐบาลชุดปัจจุบันมีโอกาสที่จะทำงาน คือ ช่วงปลายปีนี้จนถึงปีหน้า หรืออาจจะคาบเกี่ยวไปถึงช่วงปี 2560 เล็กน้อย ว่าจะมีการดำเนินการในเรื่องใดแล้วเสร็จบ้าง โดยระหว่างการดำเนินการต้องมีการรายงานความคืบหน้าเป็นระยะอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สังคมได้รับทราบและเข้าใจถึงสิ่งที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ดำเนินการ

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายงานและอำนาจให้กับรองนายกรัฐมนตรี กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบกำกับดูแล กระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

2) พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบกำกับดูแล กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม ฯลฯ

3) พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบกำกับดูแล กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

4) พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบกำกับดูแล กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพลังงาน กระทรวงศึกษา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

5) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบกำกับดูแล กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงอุตสาหกรรม

6) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบกำกับดูแล กระทรวงยุติธรรม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสำนักงานราชบัญฑิตยสภา

รวมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้แก่คณะรัฐมนตรี โดยต้องเน้นเรื่องการสร้างความเข้าใจควบคู่กับการสร้างความไว้ใจกับประชาชน โดยเฉพาะกรณีที่กระทรวงได้ขับเคลื่อนและทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องใดออกไปจะต้องยึดถือความเข้าใจของประชาชนเป็นหลัก ทั้งนี้ต้องให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจกับประชาชนตั้งแต่ปัญหาที่เกิดขึ้น แนวทางในการแก้ไขปัญหา ข้อดีและข้อเสียของสิ่งต่าง ๆ ที่ดำเนินการ ซึ่งในส่วนของจุดอ่อนหรือข้อเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในบางกรณีมีวิธีการแก้ไขและชดเชยในเรื่องดังกล่าวอย่างไร ขณะที่การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับประชาชนและผู้ที่ปฏิบัติงานร่วมกันได้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกันนั้น ต้องยึดประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้งโดยไม่มีการแอบแฝงไว้ด้วยผลประโยชน์เป็นอันขาด ทุกอย่างจะต้องมีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพเป็นไปตามเวลาที่กำหนด และยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางโดยพิจารณาว่าประชาชนต้องการอะไร หรือยังขาดอะไร และประชาชนไม่เข้าใจเรื่องใด เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องมีความชัดเจน โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นเป้าหมายลำดับแรกคือภายในเดือนกันยายนปี 2559 จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในเรื่องใดบ้าง

อีกทั้งขอให้มีการพิจารณาแนวทางหรือวิธีการที่ประเทศอื่นได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าวนี้แล้วประสบความสำเร็จและสอดคล้องกับประเทศไทย ให้นำมาประยุกต์และปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะการแก้ไขปัญหาไม่จำเป็นต้องคิดเองใหม่ทั้งหมดเนื่องจากอาจจะทำให้เสียเวลานานแต่ต้องมีการพิจารณาในเรื่องที่มีความเหมาะและเข้ากับสถานการณ์ของประเทศไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยเรื่องการบูรณาการการทำงานที่ต่อเนื่องหลังรัฐบาลชุดปัจจุบันหมดภารกิจว่า จะทำอย่างไรให้รัฐบาลชุดต่อไปให้ความสำคัญกับเรื่องการบูรณาการ เช่น จะมีกฎหมายระบุเอาไว้หรือไม่ เพราะหากมีการเลือกตั้งเข้ามา การทำงานต้องมีการแบ่งกระทรวงในลักษณะของพรรคการเมืองที่จะต้องดูแลกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ซึ่งเมื่อมีการแบ่งกระทรวงกันแล้วก็มีความเป็นไปได้ยากที่จะบูรณาการงานต่าง ๆ ระหว่างกระทรวงที่อยู่คนละพรรคกันให้เกิดความสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นนายกรัฐมนตรีจึงฝากเป็นนโยบายเรื่องนี้ไว้เป็นนโยบายที่หนึ่ง

ส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึง 2 ประเด็นใหญ่ คือ นอกจากการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับมหภาคแล้ว นายกรัฐมนตรีต้องการให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก โดยขับเคลื่อนให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถที่จะมีรายได้ และมีการใช้จ่ายทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันให้มีการเร่งรัดการลงทุนการใช้จ่ายงบประมาณต้องมีความโปร่งใส และการลงทุนในปี 2558 – 2559 ให้พิจารณาเรื่องสิทธิประโยชน์ให้มากขึ้น เพื่อจะเป็นการจูงใจและเชิญชวนนักธุรกิจและนักลงทุนของประเทศต่าง ๆ มาลงทุนในประเทศ ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีปัจจัยและมีความเหมาะสมหลายประการที่เกื้อกูลกว่าประเทศอื่น ๆ โดยนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไปพิจารณาในทุกเรื่องว่าทำอย่างไรสิทธิประโยชน์ที่มอบให้แล้วจะเป็นการจูงใจนักลงทุนจากต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง

นายกรัฐมนตรี ยังให้ความสำคัญในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพราะความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญทั้งในเชิงของการปฏิบัติจริงและในเชิงของดัชนีชี้วัดที่จะมีผล เพราะฉะนั้นเรื่องใดก็แล้วแต่ที่จะตอบสนองต่อดัชนีชี้วัดนั้น จะต้องแก้ปัญหาให้ตรงกับดัชนีชี้วัดที่ออกมา เพื่อให้มีผลสำรวจที่ดีขึ้น

สำหรับเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จะต้องสอนให้คนรู้จักการเรียนรู้ เรียนที่จะคิดได้อย่างเท่าทัน และคิดแล้วสามารถนำไปปฏิบัติได้ รวมทั้งจะต้องสร้างคนดีให้เกิดขึ้นในสังคมให้ได้ คือเป็นคนที่เก่งในเรื่องต่าง ๆ และมีคุณธรรม เพราะหากมีเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดแต่ขาดอีกอย่างหนึ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ก็ถือว่าได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ถ้าทำสองอย่างควบคู่กันถือว่าประสบผลสำเร็จ ขณะเดียวกันการผลิตบุคลากรต่าง ๆ ในสายวิชาชีพจะต้องสอดคล้องและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจนสอดรับต่อสถานการณ์ของการพัฒนา อย่างไรก็ตามอย่าคำนึงถึงเฉพาะสิทธิและเสรีภาพ แต่ต้องให้ประชาชนได้ตระหนักถึงหน้าที่ควบคู่กันไปด้วย

ขณะที่เรื่องความมั่นคงนั้น นายกรัฐมนตรี ได้มีการพิจารณาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ระเบิดที่บริเวณราชประสงค์ซึ่งถือเป็นบทเรียนและประสบการณ์สำคัญได้เป็นอย่างดี ที่เจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร อาสาสมัคร หรือส่วนข่าวกรอง สภาความมั่นคงแห่งชาติ ทุกคนพยายามจะบริหารจัดการสถานการณ์ต่าง ๆ ให้กลับคืนสู่ปกติโดยรวดเร็ว สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เกิดความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้สะดวกตามพื้นที่ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการข่าว และการกันพื้นที่ให้เกิดความปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตามก็ยังประสบปัญหาในการดำเนินการดังกล่าวพอสมควร เช่น เรื่องการปฏิบัติของสื่อมวลชน การปฏิบัติของประชาชนที่จะทำอย่างไร ให้ทั้ง 2 กลุ่มได้เข้าใจและเป็นการปลูกจิตสำนึกด้านความมั่นคง เพื่อที่จะให้สามารถใช้ชีวิตและทำงานได้ตามหน้าที่ของกลุ่มบุคคลดังกล่าวโดยไม่ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน เช่น การเข้าไปรายงานข่าว ซึ่งจะทำอย่างไรที่จะให้ได้ภาพข่าวที่เหมาะสมโดยไม่ริดรอนสิทธิของผู้อื่นและไม่ไปขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงประชาชนก็ต้องตระหนักรู้ว่าเวลาเกิดเหตุการณ์ขึ้นจะมีสถานการณ์ข่าวลือเกิดขึ้น ทำอย่างไรถึงจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของการเข้าไปมีส่วนทำให้ข่าวลือเหล่านั้นแพร่สะพัดทำให้เกิดความสับสนในสังคม ซึ่งตรงนี้ทำอย่างไรประชาชนถึงจะมีส่วนช่วยที่จะระงับยับยั้งข่าวลือทั้งหลายเหล่านั้น

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมตรีเกี่ยวกับกรณีที่จะสิ้นปีงบประมาณ 2558 ภายในสิ้นเดือนกันยายน 2558 นี้ว่า คณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้จะไม่มีบุคคลใดที่เป็นข้าราชการประจำอยู่อีกสถานะหนึ่ง เพราะฉะนั้นจะมีแต่สถานะของการเป็นข้าราชการเมืองเพียงอย่างเดียว โดยนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปพิจารณาในรายละเอียดต่อไป ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยถึงเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ