นายกรัฐมนตรี รับสมัครสมาชิก กอช. คนแรก

ข่าวทั่วไป Thursday August 20, 2015 10:45 —สำนักโฆษก

ตอกย้ำความพร้อมทั้งระบบในการรับสมัครสมาชิก

พร้อมเปิด Slogan อยาก... ก.อ.ช. – ก็ ออม ชิ

กองทุนการออมแห่งชาติหรือ กอช. เปิดรับสมัครสมาชิกแล้ว โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในพิธีเปิด กอช. อย่างเป็นทางการ พร้อมกันนี้ ยังได้เป็นผู้รับสมัครสมาชิก กอช. คนแรกของประเทศไทยและเชิญชวนให้คนไทยที่มีสิทธิ์สมัครเป็นสมาชิก กอช. มาใช้สิทธิ์สมัครเป็นสมาชิกเพื่อความมั่นคงในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าการเปิดรับสมัครสมาชิกของธนาคารเครือข่ายทั้งสามแห่งนั้น เป็นไปอย่างราบรื่น การเดินหน้า กอช. ของรัฐบาลถือเป็นสัญญาณที่สะท้อนถึงนโยบายการส่งเสริมการออมไปพร้อม ๆ กับการสร้างวินัยการออมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

“หากเราต้องการให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต การออมถือเป็นสิ่งจำเป็น จะเห็นได้จากประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สัดส่วนการออมของประชาชนในประเทศเหล่านั้น อยู่ในสัดส่วนที่สูง ดังนั้น วันนี้เราเริ่มต้นส่งเสริมและเสริมสร้างวินัยการออมให้กับคนไทย ผมว่ามันยังไม่สายเกินไปครับ ดีกว่าที่เราไม่ได้เริ่มต้น” นายสมหมาย กล่าว

นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการคณะกรรมการ กอช. กล่าวเพิ่มเติมว่านับจากวันนี้เป็นต้นไป ประชาชนคนไทยทุกคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใดๆ สามารถสมัครเป็นสมาชิก กอช. ได้ที่ 3 ธนาคารคือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน เพียงใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ก็สามารถทำการสมัครสมาชิกได้ ซึ่งจะมีระบบเชื่อมโยงจากธนาคารทั้งสามแห่งมาที่ กอช. เพื่อทำการตรวจสอบคุณสมบัติก่อน ว่ามีสิทธิ์สมัครเป็นสมาชิก กอช. ได้หรือไม่

“หากตรวจสอบแล้ว ท่านมีสิทธิ์สมัคร ผมอยากเชิญชวนให้สมัครด้วยเงินเริ่มต้นเพียง 50 บาท เงินก้อนนี้ไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่กับท่านและจะงอกเงยเพิ่มพูนจากการสมทบของรัฐบาลและผลประโยชน์ตอบแทนที่เกิดจาการนำเงินกองทุนไปลงทุน และหากท่านฝากเงินเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อครบอายุ 60 ปี ท่านจะมีเงินบำนาญไว้ใช้ ชีวิตในวัยชราจะมีความมั่นคงมากขึ้น”

“ผมขอขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนสนับสนุนให้ กอช. สามารถเดินหน้าภารกิจของ กอช. ได้ โดยเฉพาะ ธกส. ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน และอีกภาคส่วนหนึ่งทีมีความสำคัญอย่างยิ่งในการตรวจสอบสิทธิคือ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน หน่วยงานเหล่านี้ถือเป็นส่วนสำคัญต่อ กอช. อย่างมากที่ช่วยให้สามารถเดินหน้ารับสมัครสมาชิกได้อย่างสำเร็จ” นายสมพร กล่าว

นายสมพร กล่าวว่า กอช. ได้ประสานกับธนาคารทั้งสามแห่งอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับระบบคอมพิวเตอร์ของ กอช. ให้สามารถเชื่อมต่อโครงข่ายทั้งสามธนาคารและอีก 3 หน่วยงานเพื่อพิสูจน์สิทธิ์ของประชาชน จนถึงขณะนี้ กอช. พร้อมที่จะเดินหน้ารับสมัครสมาชิก ได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ เพื่อให้คนไทยเข้าใจถึงภารกิจของ กอช. นายสมพร กล่าวว่า กอช. ได้จัดทำเอกสารเผยแพร่ภายใต้ Slogan จากตัวย่อของ กอช. ว่า “เพื่อ ลูก หลาน... ก็ ออม ชิ” และ “อยากสบาย... ก็ ออม ชิ” เพื่อสร้างการรับรู้ชื่อของ กอช. และยังสื่อถึงภารกิจของ กอช. ที่ประชาชนคนไทยสามารถจับต้องได้

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ได้กล่าวว่า ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2558 ธ.ก.ส. ได้มอบให้พนักงานของ ธ.ก.ส.ทุกสาขาครอบคลุมทั้งประเทศ ทำการ ประชาสัมพันธ์และร่วมประชุมกลุ่มลูกค้าของ ธ.ก.ส.และครอบครัว ให้ทราบเกี่ยวกับการดำเนินงานของ กอช.และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับ หลังจากออมเงินได้ตามเกณฑ์ โดยจะได้รับเป็นเงินบำนาญ หรือ เงินดำรงชีพ จนถึงขณะนี้ มีลูกค้า ธ.ก.ส. ที่สนใจและยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกแล้วจำนวน 170,000 กว่าราย และจะเป็นช่องทางของ กอช. เพื่อให้เกษตรกรและครอบครัวมีออมเงินอย่างต่อเนื่องต่อไป

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่าภารกิจของ กอช. สอดคล้องกับภารกิจของธนาคารออมสิน คือการส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงการออม ขณะนี้ ธนาคารฯ มีความพร้อมให้ความร่วมมือกับ กอช. เพื่อรับสมัครสมาชิก กอช. ผ่านเครือข่ายทั่วประเทศของธนาคารออมสินกว่า 1,032 สาขา โดยคาดว่าจะมีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของธนาคาร ทั้งพ่อค้าแม่ค้า ประชาชนทั่วไป และนักเรียน นักศึกษา สมัครเป็นสมาชิก กอช. ภายในปีนี้ ประมาณ 500,000 ราย

นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่าธนาคารกรุงไทยได้เชื่อมต่อระบบเข้ากับ กอช. เรียบร้อยแล้ว และพร้อมร่วมสนับสนุนให้คนไทยสมัครเป็นสมาชิกของ กอช. โดยกลุ่มลูกค้าของธนาคารกรุงไทยที่สามารถสมัครเป็นสมาชิกของ กอช. ต้องเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระเช่นนักลงทุน ที่ปรึกษา แพทย์ พ่อค้าแม่ค้า รวมถึงกลุ่มนักเรียน นักศึกษาด้วย เป็นต้น

กอช. ถือเป็นหน่วยงานล่าสุดที่รัฐบาลนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ผลักดันจนสามารถเปิดรับสมัครสมาชิกได้ ภารกิจสำคัญของ กอช. คือการสนับสนุนให้ประชาชนทั่วประเทศที่มีอาชีพอิสระและไม่มีสวัสดิการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการรับเงินกรณีชราภาพ ให้สามารถใช้สวัสดิการรับเงินบำนาญผ่าน กอช. ได้ โดยผู้มีสิทธิ์สมัครเป็นสมาชิกจะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีและไม่เกิน 60 ปี แต่ปีแรกที่ พระราชบัญญัติมีผลบังคับ ได้อนุญาตให้ผู้สมัครที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีสิทธิออมกับกองทุนได้ 10 ปีนับจากวันที่เป็นสมาชิก ทำให้ในช่วงปีแรกผู้สนใจที่มีอายุเกิน 60 ปี สามารถสมัครสมาชิกได้

นายสมพร กล่าวว่าผู้ที่ออมเร็วและออมในอัตราสูงก็จะได้รับเงินบำนาญมากขึ้นตามสัดส่วน อาทิ ออมเดือนละ 1,000 บาท หากเริ่มตั้งแต่อายุ 15 ปี เมื่อเกษียณจะได้รับเงินบำนาญพร้อมเบี้ยยังชีพประมาณ 7,000 บาทต่อเดือน แต่หากเริ่มอายุ 30 ปี จะได้เงินบำนาญประมาณ 4,000 บาท ส่วนผู้ที่มีเวลาหรือจำนวนเงินออมน้อย เช่น อายุ 50 ปี ออมเดือนละ 500 บาท เมื่ออายุ 60 ปีจะได้เพียง 421 บาท ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานการครองชีพ โดย กอช.จะใช้จ่ายเป็นเงินดำรงชีพแทนในอัตราเดือนละ 600 บาท เมื่อรวมกับเบี้ยยังชีพของรัฐบาลเดือนละ 600 บาท รวมรับเดือนละ 1,200 บาท ซึ่งน่าจะช่วยแบ่งเบาภาระการดำรงชีพในวัยชราได้พอสมควร

“สำหรับ พ.ศ. 2558 นี้ กอช. คาดว่าจะสามารถรับสมัครสมาชิกได้ประมาณ 600,000 คน และสิ้นปี พ.ศ. 2559 เพิ่มเป็น 1,500,000 คน โดย กอช. คาดการณ์รับสมัครสมาชิก กอช. ได้เท่ากับเป้าหมายใหญ่ที่รัฐบาลตั้งไว้จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2561 รวมทั้งสิ้นประมาณ 3,000,000 คน” นายสมพร กล่าว

ข้อมูลสถิติในปี 2555 แรงงานไทยจำนวน 24.6 ล้านคนเป็นแรงงานนอกระบบ หรือร้อยละ 62.6 ของกำลังแรงงานทั้งหมดจำนวน 39.3 ล้านคน เป็นแรงงานที่ไม่ได้รับเงินชดเชยจากการว่างงาน อุบัติเหตุ และเกษียณอายุ เนื่องจากแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม ทำให้ขาดความมั่นคงทางรายได้ ยามชราภาพจากแหล่งใด นอกจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของรัฐบาลเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเข้าสู่สังคมประชากรสูงอายุ และมีอัตราเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง อันเนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์และอัตราการเกิดลดลง ซึ่งคาดว่าในปี 2563 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนสูงถึงประมาณร้อยละ 15 หรือ 10.5 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศ

ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุไทยกว่า 2 ล้านคนกว่าครึ่งหนึ่งจากจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมดประมาณ 4 ล้านคน ที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ในช่วง 400 - 3,300 บาทต่อเดือน ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ (ร้อยละ 87) พึ่งพิงรายได้จากบุตรหลาน และมีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 10 ที่พึ่งพิงรายได้จากเบี้ยยังชีพ เงินบำเหน็จบำนาญที่ได้จากการออมและการลงทุนเป็นหลัก นอกจากนี้ผลการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 31 ไม่มีการเก็บออม และผู้สูงอายุร้อยละ 42 มีปัญหารายได้ไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต เป็นภาระหนักทั้งภาครัฐบาลและภาคสังคมต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลกลุ่มผู้สูงอายุในอนาคต

ที่มา : กระทรวงการคลัง

ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ