โฆษกรัฐบาลเผยนายกรัฐมนตรีย้ำสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศต้องประกอบด้วยตัวแทนประชาชนทุกภาคส่วน

ข่าวทั่วไป Tuesday September 15, 2015 13:52 —สำนักโฆษก

วันนี้ (15ก.ย.58) เวลา 15.15 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรีกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ ถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีปรารภและสั่งการต่อที่ประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

วันนี้ได้มีการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรีกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้ว ดังนั้นวันที่ 22 กันยายน 2558 ซึ่งเดิมได้กำหนดให้มีการประชุมร่วมดังกล่าวจะเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีตามปกติ ส่วนการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไปซึ่งตรงกับวันที่ 29 กันยายน 2558 ก็จะเลื่อนไปประชุมในวันพุธที่ 30 กันยายน 2558 แทน เนื่องจากคณะรัฐมนตรีหลายท่านติดภารกิจ

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเกี่ยวกับ Road Map ของการบริหารราชการแผ่นดิน การปฏิรูปในฐานะของครม. และคสช. ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเข้าร่วมประชุมในวันนี้รับทราบด้วย โดยขณะนี้อยู่ใน Road Map ช่วงที่2 ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมาคือการบริหารราชการโดยรัฐบาลชุดของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจนถึงปัจจุบัน และจะขยายต่อไปจนถึงวันเลือกตั้ง (ช่วงที่ 1 เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมาที่เป็นการบริหารราชการในนามรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) )

ทั้งนี้สาเหตุการขยายเวลาของรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ได้เป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่จะให้ขยายเวลาดังกล่าว แต่เป็นไปตามหลักการข้อกฎหมายและตาม Road Map โดยมีการยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตามขอเรียนด้วยความจริงใจว่า รัฐบาลไม่มีความประสงค์ที่จะขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปแต่อย่างใด แต่ดำเนินการด้วยความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาและทำทุกอย่างให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุดบนพื้นฐานของความเรียบร้อย ปราศจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ขณะที่ช่วงที่ 3 คือระยะที่มีการเลือกตั้งใหม่ในวันข้างหน้าเรียบร้อยแล้ว เป็นต้นไป เพราะฉะนั้นขณะนี้จึงอยู่ในช่วงที่ 2 ตาม Road Map ที่ได้กำหนดไว้

สำหรับเรื่องของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 247 คน รวมทั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 36 คน ได้สิ้นสุดสภาพลงไปแล้วตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2558 ภายหลังร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้รับความเห็นชอบ (ตกไป) จาก สปช. เพราะฉะนั้น การที่จะทำประชามติซึ่งใช้เงินถึง 3,000 กว่าล้านบาท รวมถึงเรื่องประเด็นรองอื่น ๆ ที่คาดหวังจะสอบถามในการทำประชามติ จึงไม่เกิดขึ้น

จากนั้น สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้แจ้งมติ สปช.ไปยังรัฐบาลและคสช. โดยขั้นตอนจากนี้ คสช. จะต้องแต่งตั้งประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 1 คน และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่เกิน 20 คน ภายใน 30 วัน (5 ตุลาคม 2558) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรนูญ (กรธ.) ต้องร่างให้เสร็จภายใน 6 เดือน แล้วนำไปลงประชามติ (ใช้เวลาอีกประมาณ 4 เดือน) พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนำเสนอข้อมูลตัวเลือกต่าง ๆ มาให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา

ทั้งนี้ ส่วนกรณีที่มีคำถามจากสังคมเกี่ยวกับสูตร 6+4+6+4=20 โดยเฉพาะมีข้อสงสัยว่าทำไมต้องขยายเวลาไปถึง 20 เดือน นั้น เพราะการดำเนินการในแต่ละขั้นตอนไม่สามารถทำให้เสร็จภายในระยะเวลาอันรวดเร็วได้ เนื่องจากในแต่ละขั้นตอนมีความยาก แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบของ สปช. สูตรการดำเนินการก็ไม่ต่างจากนี้ คือต้องมี 4+6+4 เพราะต้องมีการทำประชามติ ทำกฎหมายลูก และมีการเลือกตั้ง ซึ่งถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน สปช.ก็เพิ่มเข้ามาเพียง 6 เท่านั้น ขอให้พิจารณา อย่าไปคิดเพียงว่าทั้งหมดขยายไป 20 เดือน แต่ต้องพิจารณาดูว่าของเดิมถ้าผ่าน สปช. ก็จะมี 4+6+4 วันนี้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็เพียงเพิ่มเข้ามาอีกแค่ 6 และใน 6 นั้น นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายว่า 6+4+6+4 คือเป็นการกำหนดเพดานไว้สูงสุดที่จะมีความเป็นไปได้ แต่หากสามารถดำเนินการได้เร็วกว่าที่กำหนดก็เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งทั้งหมดดังกล่าวเป็นแนวทางที่นายกรัฐมนตรี ได้มอบไว้ให้เป็นแนวทางปฏิบัติ โดยย้ำให้ส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งใจทำให้ดีที่สุดภายในระยะเวลาที่มีอยู่และหากดำเนินการได้เร็วกว่าเดิมได้ก็เป็นสิ่งที่ดี

สำหรับสูตร 6+4+6+4=20 ของรัฐบาล มีดังนี้ กันยายน – ตุลาคม 2558 ตั้ง กรธ. จำนวน 21 คน เดือนตุลาคม 2558 – เดือนเมษายน 2559 ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จภายใน 6 เดือน เดือนเมษยาน – สิงหาคม 2559 ทำประชามติ ภายใน 4 เดือน จะมีการพิมพ์เอกสารร่างรัฐธรรมนูญแจกให้กับประชาชนผู้มีสิทธิที่จะออกเสียงลงคะแนนประมาณ 40 ล้านกว่าคน เพื่อให้สามารถศึกษาข้อมูลต่าง ๆ เหล่านั้นในการที่จะใช้ดุลยพินิจในการลงประชามติโดยปราศจากการชี้นำแบบมีนัยของกลุ่มต่าง ๆ จากนั้นเดือนกันยายน 2559 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

เดือนกันยายน – เดือนตุลาคม 2559 ยกร่างกฎหมายลูก ภายใน 2 เดือน เดือนตุลาคม 2559 – เดือนมกราคม 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านกฎหมายลูก ภายใน 3 เดือน เดือนกุภาพันธ์ 2560 ส่งกฎหมายลูกให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ ภายใน 1 เดือน เพื่อพิจาณาตรวจสอบว่ากฎหมายลูกขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ในเดือนมีนาคม 2560 ประกาศใช้กฎหมายลูกและเริ่มรณรงค์หาเสียงได้ เดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน 2560 เลือก ภายใน 3 เดือน เดือนกรกฎาคม 2560 ตั้งรัฐบาลใหม่ ภายใน 1 เดือน

พร้อมกันนี้ รัฐบาลยืนยันว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นตาม Road Map ดังกล่าว ไม่ใช่เพราะรัฐบาลต้องการยืดระยะเวลาออกไปหรือต้องการสืบทอดอำนาจแต่อย่างใด เพราะนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำคณะรัฐมนตรี เสียสละและทำงานเต็มกำลังความสามารถอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน โดยไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งเช่นในอดีตเกิดขึ้นอีก เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่ดำเนินการทั้งหมดก็เพื่อกำไรของประเทศชาติและประชาชน

การดำเนินงานของรัฐต่อจากนี้จะมี 2 ส่วนที่จะทำงานคู่ขนานกันไปคือคณะรัฐมนตรีกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยในระหว่างนี้จะมีการแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ไม่เกิน 200 คน โดยมีไม่นำความกราบบังคมทูลฯ ภายใน 30 วัน (5ตุลาคม 2558) ทำหน้าที่ดำเนินการให้มีการปฏิรูปต่อจาก สปช. อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นายกรัฐมนตรี ได้ให้หลักการเบื้อต้น ว่าจะต้องประกอบด้วย ข้าราชการและเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย ดังนี้ 1) ข้าราชการ ทั้งที่ยังรับราชการอยู่และเกษียณอายุราชการไปแล้ว เพราะข้าราชการเป็นคนปฏิบัติงานแทนรัฐบาลและใกล้ชิดกับประชาชน 2) นักกฎหมาย 3) นักวิชาการทุกกลุ่มที่มาจากนักคิดและนักปฏิบัติงานจนเป็นที่ยอมรับ 4) ตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคประชาชน ประชาสังคม เกษตร อุตสาหกรรม และภาคส่วนอื่น ๆ 5) กลุ่มนักการเมือง และพรรคการเมือง และ6) กลุ่มส่วนความมั่นคง โดยมั่นใจรัฐบาลจะทำทุกอย่างที่จะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้อย่างมีคุณภาพและจะพยายามไม่ให้เกิดความขัดแย้งโดยไม่ให้มีมาตรฐานที่แตกต่างกันโดยเด็ดขาด

สำหรับโครงสร้างของรัฐจากกันยายน 2558 – กรกฎาคม 2560 มีดังนี้ 1. คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1.1 ) งานด้านการบริหาร จะมีคณะรัฐมนตรี มีระบบราชการ คณะกรรมการขับเคลื่อนที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งไว้ และมี สนช. ร่วมอยู่ในส่วนนี้ เพราะบางกรณีที่ต้องขับเคลื่อนบริหารราชการอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายมารองรับเรื่องเหล่านั้น โดยวิธีการในการบริหาร นายกรัฐมนตรี เน้นว่าจะต้องบริหารราชการแผ่นดินไปตามข้อกฎหมายและนโยบาย และต้องขจัดความขัดแย้งไม่เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก 1.2) การปฏิรูป ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี ระบบราชการ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ สปท. และ สนช. โดยวิธีการปฏิบัติงาน จะต้องดำเนินการปฏิรูปทันทีระยะต่อไปและระยะที่จะต้องยั่งยืน ส่วนที่จะต้องดำเนินการทันทีเพราะรัฐบาลไม่สามารถที่จะส่งเรื่องปฏิรูปทั้งหมดไปให้รัฐบาลชุดต่อไป เพราะจะเป็นข้อครหาได้ว่าทำไมรัฐบาลชุดนี้ไม่ดำเนินการเอง ดังนั้นในระยะเวลาที่รัฐบาลชุดปัจจุบันอยู่จึงต้องดำเนินการทุกอย่างให้เป็นแบบอย่างกับคนอื่นก่อนที่จะไปฝากชีวิตไว้กับคนอื่นในเรื่องการปฏิรูป รัฐบาลก็ต้องดำเนินการในระยะที่1 ให้ได้ด้วยเช่นกัน และต้องไม่อยู่บนพื้นฐานของความขัดแย้ง 1.3) การปรองดอง จะมีคณะรัฐมนตรี ระบบราชการ และ สนช. โดยมีวิธีการดำเนินการต่าง ๆ เช่น การปรองดองโดยสันติ การเยียวยา การอภัยโทษเมื่อยอมรับผิดแล้ว ใช้หลักศาสนา การพัฒนา การสร้างความเป็นธรรมขจัดเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นสองมาตรฐาน โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด

2. คสช. จะเน้นภารกิจในเรื่องของความมั่นคงและการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นหลัก โดยเฉพาะการใช้มาตรา 44 ซึ่งขณะนี้ คสช. ได้ใช้อำนาจตามาตรา 44 ไปแล้ว 27 ครั้ง โดยเรื่องที่ใช้มาตรา 44 จะเป็นเรื่องในเชิงสร้างสรรค์เพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อให้ความขัดแย้งต่าง ๆ คลี่คลายและสงบลง ตลอดจนการใช้ในเรื่องของการตั้งศูนย์แก้ปัญหา ICAO และเรื่องการถอดยศ รวมทั้งเป็นกลไกให้ ครม.ในการบริหาร การปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง เป็นต้น

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยากรณ์พบว่าพายุดีเปรสชั่น"หว่ามก๋อ" ซึ่งขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนามขณะนี้ได้อ่อนกำลังลงเป็นย่อมความกดอากาศต่ำ อย่างไรก็ตามยังส่งผลต่อประเทศไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ซึ่งนายกรัฐมนตรี ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ระมัดระวัง ขณะที่เดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต้องมีการเตรียมความพร้อมทุกด้านไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เครื่องมือ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างทันท่วงที

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ