สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงประกอบพิธีเปิดสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี

ข่าวทั่วไป Monday October 5, 2015 14:49 —สำนักโฆษก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงประกอบพิธีเปิดสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายดรุณ ฉายแสง อธิบดีกรมทางหลวงชนบท และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้ารับเสด็จฯ ณ พลับพลาพิธีบริเวณสวนสาธารณะ สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 ระยะทาง 4.3 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 3,795 ล้านบาท ด้วยงบประมาณแผ่นดินและเงินกู้ต่างประเทศจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ในสัดส่วน 30:70 เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จได้เปิดสะพานให้ประชาชนทดลองใช้งานอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ทั้งนี้ ทช. ได้ขอพระราชทานชื่อสะพาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสะพาน ว่า “สะพานมหาเจษฎา บดินทรานุสรณ์” อันมีความหมายถึง สะพานที่เป็นอนุสรณ์ถึง พระบาทสมเด็จพระปรมาทิวรเสฏฐมหาเจษฎา บดินทรฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากสะพานฯ ตั้งอยู่ใกล้กับวัดเฉลิมพระเกียรติ เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระอัยกา พระอัยกี และสมเด็จพระศรีสุลาไลย พระราชชนนีของพระองค์ ด้วยบริเวณดังกล่าว เป็นนิวาสสถานเดิมของพระอัยกา พระอัยกี และเป็นที่ประสูติของพระราชชนนีของพระองค์

สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ ตั้งอยู่ระหว่างสะพานพระนั่งเกล้ากับสะพานพระราม 5 มีจุดเริ่มต้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ ถนนนนทบุรี 1 และถนนเลี่ยงเมืองนนทบุรี ใกล้โรงเรียนศรีบุญยานนท์ และสิ้นสุดโครงการที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ถนนราชพฤกษ์ รวมระยะทาง 4.3 กิโลเมตร มีรูปแบบโครงสร้างเป็นลักษณะสะพานคานขึง (Extardosed Prestressed Concrete Bridge) จำนวน 6 ช่องจราจร ความยาว รวม 460 เมตร สร้างขึ้นเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรของประชาชน และเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางในพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพฯ ให้สมบูรณ์ ช่วยแบ่งเบาปริมาณการจราจรบนสะพานพระนั่งเกล้าและสะพานพระราม 5 ตลอดจนเติมเต็มโครงข่ายคมนาคมให้เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ และเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม

"มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"

ที่มา : กรมทางหลวงชนบท

ผู้เสนอ : กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ