นายกรัฐมนตรีร่วมหารือกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการดำเนินธุรกิจของสมาชิกเอเปค

ข่าวทั่วไป Wednesday November 18, 2015 10:49 —สำนักโฆษก

วันแรกของการเริ่มต้นการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 23 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมหารือระหว่างผู้นำเอเปคกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค

วันนี้ (18 พฤศจิกายน 2558) เวลา 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ ห้อง Reception Hall ชั้น G ศูนย์การประชุม PICC พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมหารือระหว่างผู้นำเอเปคกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council Dialogue with Leaders: Plenary Session)

ภายหลังการหารือเต็มคณะระหว่างผู้นำเอเปคกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมหารือกลุ่มย่อย เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนและหารือในหลายประเด็น โดยมี ดร. ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธาน ABAC ไทย เป็นผู้แทนจากประเทศไทยเข้าร่วมการหารือด้วย

การพบหารือกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ในการประชุมเอเปคครั้งนี้แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มที่ 3 โดยนายกรัฐมนตรีจะได้ร่วมหารือกับผู้นำจากรัสเซีย เม็กซิโก เขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง และพบกับสมาชิก ABAC ซึ่งเป็นผู้แทนธุรกิจจากเขตเศรษฐกิจต่างๆ ได้แก่ ออสเตรเลียบรูไน แคนาดา จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม

พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แนวทางเกี่ยวกับการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises - MSMEs) การเปิดการค้าเสรี การส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ไปสู่การเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม และการส่งเสริม/พัฒนาความเชื่อมโยง

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย โดย SME มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 97 ของวิสาหกิจทั้งหมดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สำหรับประเทศไทย มี SME กว่าร้อยละ 99 ในระบบ สัดส่วนการจัดจ้างโดยรวมสูงเกือบถึงร้อยละ 78 ของการจ้างงานรวม และยังเป็นแหล่งสร้างนวัตกรรม ดังนั้น รัฐบาลจึงผลักดันนโยบายการส่งเสริม SME เป็นวาระแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม SME ยังคงเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก นายกรัฐมนตรีจึงเห็นพ้องกับเอเปคในการส่งเสริม SME ผ่านกิจกรรมส่งเสริมขีดความสามารถ การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งลงทุน การเข้าถึงตลาด และการปกป้องนวัตกรรม

นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนา SME อย่างมีนวัตกรรมและความสร้างสรรค์ อันเป็นการต่อยอดภาคเศรษฐกิจไทยที่มีศักยภาพอยู่แล้ว

นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชม ABAC ถึงบทบาทของการส่งเสริม SME ในด้านการเข้าถึงแหล่งลงทุน และเห็นพ้องในการเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการ และการลดความเหลื่อมล้ำ อันเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวในภูมิภาคของเอเปค

ทั้งนี้ เพื่อผลักดันขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในด้านต่างๆ ไทยหวังที่จะเห็นความร่วมมือในการดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ และการเสริมสร้างขีดความสามารถอย่างเป็นรูปธรรม ระหว่างเอเปค กับ ABAC

ไทยสนับสนุนเอเปคในการคงบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในด้านการเปิดการค้าเสรี เนื่องจากการค้าเสรีและการลงทุนถือเป็นเป้าหมายหลักของเอเปค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เอเปคให้ความสำคัญกับความแตกต่างในขีดความสามารถ และระดับการพัฒนาของแต่ละเขตเศรษฐกิจตามความพร้อมด้วยความสมัครใจ ทั้งนี้สำหรับในอนาคต เอเปคควรให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมสมาชิก โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนา รวมถึงการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายโบกอร์ในการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเปค ในปี ค.ศ. 2020 ตามที่ผู้นำเอเปคได้เคยตกลงกันไว้

ไทยสนับสนุนแนวคิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ภายใต้เขตการค้าเสรีของเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia Pacific - FTAAP) ให้บรรลุผลโดยเร็ว โดยการต่อยอดจาก FTA ที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะในกรอบอาเซียน และคำนึงถึงความแตกต่างในด้านศักยภาพและระดับการพัฒนาในการพิจารณาประเด็นใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้เขตการค้าเสรีดังกล่าวมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สามารถสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงถึง 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการประเมินของแอสแคป นอกจากนี้การรวมกลุ่มจะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อสามารถขจัดอุปสรรคทางการค้าภายในประเทศ ซึ่งไทยสนับสนุนแผนปฏิบัติการการเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจของเอเปค ปี ค.ศ. 2016-2018 (Ease of Doing Business Action Plan 2016-2018)

ไทยได้ดำเนินการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจสำหรับปี ค.ศ. 2015 อย่างต่อเนื่อง และยังดำเนินมาตรการอื่นๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการบรรลุเป้าหมายการเปิดเสรีทางการค้าอย่างแท้จริง ส่วนในกรอบ WTO ไทยได้ให้สัตยาบันความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้ว รวมถึงการจัดทำความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนกับประเทศต่างๆ ด้วย

โดยนายกรัฐมนตรียังได้กล่าวยืนยันถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะทำงานร่วมกับเอเปคในการส่งเสริมการเปิดการค้าเสรี

นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญในการปฏิรูปกระบวนการผลิต รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยเน้นการวางรากฐานในทุกภาคส่วน ทั้งด้านการผลิต การค้าผลิตภัณฑ์ดิจิทัลโดยตรง และการใช้ดิจิทัลรองรับบริการ ภาคธุรกิจการเงิน และธุรกิจบริการอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อวางรากฐานด้านโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาบุคลากรด้าน ICT

นอกจากนี้ การสร้างความเชื่อมโยงถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมและยั่งยืน อย่างไรก็ดีปัจจัยเรื่องการเงินลงทุนยังคงเป็นความท้าทายสำคัญ ซึ่งไทยยินดีเข้าร่วมโครงการจัดการกองทุนรวมภูมิภาคเอเชียข้ามพรมแดนภายใต้กรอบเอเปค ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการเสนอขายกองทุนรวมในเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะช่วยขยายตลาดทุนในภูมิภาคให้ใหญ่ขึ้น ลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจและสามารถระดมเงินทุนในภูมิภาคมาใช้ประโยชน์ในการลงทุนต่างๆ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในภูมิภาค

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังรวมถึงการพัฒนาในมิติอื่น เช่น กฎระเบียบ สถาบัน และความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่มูลค่าโลกควบคู่กันไปด้วย โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน กับนโยบาย “ไทยบวกหนึ่ง” เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตภายในภูมิภาค และนำพาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าโลก เช่น การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนติดกับกัมพูชา ลาว เมียนมา และมาเลเซีย โดยภายในปีนี้จะเริ่มทั้งหมด 5 แห่ง นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเรื่องการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์

-------------------------------------------------

กลุ่มวิเทศสัมพันธ์

สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ