รมช.ศธ.ให้นโยบายแก่ข้าราชการ สกศ.

ข่าวทั่วไป Monday October 19, 2015 11:52 —สำนักโฆษก

นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้นโยบายในการทำงานแก่ข้าราชการ สกศ. เมื่อวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2558 ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สกศ. โดยมี ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา รวมทั้งผู้บริหารและข้าราชการ สกศ.ร่วมประชุมรับฟัง

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่าการมอบนโยบายครั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ สกศ.เป็นที่พึ่งของการศึกษาของชาติได้จริงๆ โดยเฉพาะเรื่องนโยบายเกี่ยวกับการศึกษา และคำแนะนำเชิงวิชาการต่างๆ ที่ออกมาจากสภาการศึกษา ต้องเป็นที่ตื่นตาตื่นใจและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้หน่วยงานทั้งภายในกระทรวงและนอกกระทรวงได้ถือเป็นหลักปฏิบัติได้จริง

นับตั้งแต่มีการก่อตั้งสภาการศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เริ่มต้นไว้ ในอดีตนั้นรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่มาก และต่อมาก็มีทั้งช่วงที่ขึ้นและลง ปัจจุบันจึงต้องการให้สภาการศึกษาเป็นที่พึ่งได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ขณะนี้ไม่เห็นด้วยกับการประเมินคุณภาพสถานศึกษาทั้งภายใน โดยกระทรวงศึกษาธิการ และการประเมินภายนอก โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาฯ (สมศ.) จึงต้องการให้สภาการศึกษาร่วมวิเคราะห์ว่าการประเมินมาตรฐานที่ดีตามหลักวิชาการจริงๆ ควรเป็นอย่างไร แน่นอนว่าเป็นหนึ่งในฐานทางวิชาการที่ดี นอกเหนือจากการใช้องค์กรภายนอกเพียงอย่างเดียว ทำให้ สกศ.เปรียบเสมือนเป็นมันสมองที่สำคัญจริงๆ ของการศึกษาชาติ ซึ่งเลขาธิการ สกศ. ก็ยืนยันว่าจะทำสิ่งที่ได้ตกลงกันให้บรรลุผล

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญของความก้าวหน้าขององค์กรคือ กำลังคน โดยได้หารือกับเลขาธิการ สกศ. ในการขอความร่วมมือยืมตัวบุคลากร สกศ.ในช่วงอายุไม่เกิน 40 ประมาณ 10 คน เพื่อสร้างให้คนเหล่านี้เป็นผู้นำทางการศึกษา (Leadership) โดยจะเชิญคนเหล่านี้มาพบกับนักวิชาการและทีมงานของ รมช.ศึกษาธิการ ซึ่งดึงคนเก่งๆ เข้ามาทำงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้คนเหล่านี้มีความมั่นใจและมีการพัฒนาที่จะมาเป็นผู้นำทางการศึกษาได้จริงๆ และในอนาคตผู้ใหญ่ทั้งหลาย เช่น เลขาธิการฯ หรือผู้อำนวยการต่างๆ ก็จะเป็นพี่เลี้ยงที่สำคัญที่จะช่วยกันผลักดันให้น้องๆ เหล่านี้ ได้เป็นผู้นำทางการศึกษาในการแก้ไขปัญหาทางการศึกษาที่มีอยู่ทุกด้านต่อไป

อีกหนึ่งประเด็นนอกเหนือจากการที่สภาการศึกษาจะให้นโยบายภาพกว้างๆ อย่างเดียว ต้องการให้มีประสบการณ์ เช่น ควรมีทีมโครงการให้คำปรึกษาในการพัฒนาโรงเรียน (School Improvement Program) คือให้ส่งทีมนี้เข้าไปดูปัญหาในโรงเรียนรัฐและเอกชน เนื่องจากบางครั้งคนในสังกัดนั้นๆ เมื่อมีปัญหา อาจจะมองไม่เห็นแนวทางแก้ปัญหาของตัวเอง ซึ่งสภาการศึกษาจะมีบทบาทสำคัญในการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา เนื่องจากรู้บริบทของโรงเรียนเหล่านี้ดีอยู่แล้ว โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิชาการที่เป็นที่ยอมรับจริงๆ ของสากล

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมถึงบทบาทของรัฐบาลในการจัดการศึกษา (Government’s Role in Education) ว่า เคยได้ยินไหมว่าประเทศไทยลงทุนด้านการศึกษาประมาณ 500,000 กว่าล้านบาท แต่คุณภาพการศึกษาออกมาไม่ดี แต่ส่วนตัวเชื่อว่าประโยคนี้ไม่จริงแล้ว เนื่องจาก 500,000 กว่าล้านบาท เราวัดมาตรฐานจากการเอาผลการประเมินโดย PISA มาวัดเด็กประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเท่านั้น แต่ความเป็นจริงใน 500,000 กว่าล้านบาท มีงบประมาณ 170,000 กว่าล้านบาทเป็นของมหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งเราต้องตัดส่วนนี้ออกไป ทำให้เห็นข้อเท็จจริงคือรัฐบาลลงทุนในการศึกษาขั้นพื้นฐานประมาณ 300,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น

เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้ลงทุนมากกว่าที่คิด และหากเราไปดูตัวชี้วัดอื่นๆ นอกเหนือจาก PISA ก็พบว่าผลที่ออกมาไม่ได้เลวร้าย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงไม่ต้องการให้ว่าแต่กระทรวงจนเราเป็นจำเลย และบุคลากรหมดกำลังใจทำงาน.

ถ่ายภาพ : บัลลังก์ โรหิตเสถียร

ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวแสดงความขอบคุณ รมช.ศึกษาธิการ ในความตั้งใจจริงและมั่นใจในการทำงานของรัฐมนตรี เชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนางานการศึกษาที่ส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศด้วย ส่วนการที่เข้ามาทำงานในฐานะเลขาธิการ สกศ. นั้น ก็ทำงานด้วยความสุขในการทำงานที่พร้อมจะให้ สกศ. เป็นผู้นำทางวิชาการ และช่วยตอบคำถามในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในฐานะนักวิชาการ ซึ่งจะต้องกล้าพูด กล้าวิพากษ์ โดยไม่ส่งผลให้ระบบมีปัญหา เพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐมนตรีได้ใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป

ย้ำว่าจะทำให้ สกศ.เป็นหน่วยงานสำคัญเพื่อเป็นที่พึ่งของประเทศด้านการศึกษา และจะวางกรอบทิศทางในการทำงานตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป จากนั้นจะมีแนวทาง ผลงานสำคัญออกสู่สังคมเป็นระยะๆ ต่อไป และพร้อมที่จะส่งบุคลากรน้องที่เก่งๆ ของ สกศ.ไปเป็นคณะทำงานร่วมกันกับทีมงาน รมช.ศึกษาธิการ ส่วนผู้มีประสบการณ์และอาวุโสกว่าก็จะเป็นพี่เลี้ยง เพื่อช่วยกันทำงานด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพต่อไป.

อรพรรณ ฤทธิ์มั่น

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

19/9/2558

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ