นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมสรุปผลการศึกษาการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Thursday October 22, 2015 14:58 —สำนักโฆษก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมสรุปผลการศึกษาการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย โดยมี นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพงษ์ศักดิ์ สมใจ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ผู้แทนกรมท่าอากาศยาน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และกลุ่มที่ปรึกษา เข้าร่วมการประชุม เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้า และเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คาดว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.5 ต่อปี และจะมีสัดส่วนการเดินทางทางอากาศเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 ของโลก ส่งผลให้ธุรกิจสายการบินและจำนวนเครื่องบินขยายตัว รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ การซ่อมบำรุงอากาศยาน การผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เป็นต้น กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลด้านการขนส่งทางอากาศ ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยในทิศทางที่เหมาะสม โดยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินของประเทศ ได้มอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และออกแบบเบื้องต้น การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตและซ่อมบำรุงอากาศยานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง สนข. ได้จัดทำผลการศึกษาฯ และเสนอแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินที่เหมาะสมกับประเทศไทย 2 รูปแบบ ได้แก่

1. การให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) มีแนวคิดการออกแบบสำหรับการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ และการซ่อมบำรุงโครงสร้างเครื่องบินลำตัวแคบ ซ่อมบำรุงชิ้นส่วนอากาศยานประเภทฐานล้อ ล้อและชุดเบรก ระบบเครื่องปั่นไฟสำรอง ระบบจ่ายน้ำมันและระบบควบคุม อุปกรณ์สื่อและบันเทิง

2. การผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (Original Equipment Manufacturer : OEM) มีแนวคิดผลิตชิ้นส่วน ลำดับที่ 3 (Tier 3) อาทิ ชุดฐานล้อ ชุดเบรก เป็นต้น ผลิตวัสดุคอมโพสิต ลำดับที่ 4 (Tier 4) อาทิ ยางเครื่องบิน คาร์บอนไฟเบอร์สำหรับผลิตปีกเครื่องบิน วัสดุตั้งต้นต่าง ๆ เป็นต้น โดยการศึกษาโครงการฯ ได้กำหนดพื้นที่นำร่องในการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานของประเทศไทยที่เหมาะสมที่สุด ได้แก่ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เนื่องจากมีพื้นที่สามารถพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมการบิน หรือศูนย์ซ่อมอากาศยาน ปัจจุบันมีศูนย์ซ่อมอากาศยานของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นอกจากนั้น ท่าอากาศยานอู่ตะเภา และอยู่ใกล้กับพื้นที่อุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออก ครอบคลุมจังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี

สำหรับระยะเวลาและแนวทางการพัฒนาโครงการฯ แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ระหว่างปี 2559 – 2561 เป็นการสร้างความพร้อมด้วยโครงการนำร่อง โดยพัฒนาศูนย์บำรุงอากาศยาน (MRO) ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา และเพิ่มจำนวนธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (OEM) ในประเทศไทย โดยการเพิ่มโรงงาน และประเภทการผลิต

ระยะที่ 2 ระหว่างปี 2564 – 2566 จะสามารถครองตลาดภายในประเทศ โดยซ่อมบำรุง MRO สำหรับเครื่องบินที่ให้บริการในประเทศไทย และไม่จำกัดรุ่นของเครื่องบิน เพื่อลดการรั่วไหลเงินตราต่างประเทศโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้ อาจต้องเพิ่มจำนวนศูนย์ MRO ให้สอดคล้องกับปริมาณเครื่องบิน และเพิ่มประเภทธุรกิจของ OEM ในระดับ Tier 3 โดยกำหนด Cluster ให้ชัดเจน ครอบคลุมทั้ง 5 บริการการซ่อมบำรุง รวมทั้งเพิ่มการผลิตในระดับ Tier 4

ระยะที่ 3 ระหว่างปี 2569 – 2571 ก้าวสู่การแข่งขันระดับสากล เป็นศูนย์กลาง MRO ของภูมิภาคอาเซียน โดยตั้งเป้าหมายให้มีสัดส่วนการตลาดไม่ต่ำกว่า 30% ของเครื่องบินที่ใช้ในภูมิภาค และพัฒนา OEM ก้าวสู่การผลิตระดับ Tier 2 คือ Design and development ซึ่งให้มูลค่าเพิ่มที่สูงกว่า และเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมระดับ Tier 3 และ Tier 4 ซึ่งทั้ง 3 ระยะ จะก่อสร้างโรงซ่อมเครื่องบิน ระยะละ 2 อาคาร โรงงาน ระยะละ 1 อาคาร และโรงซ่อมเครื่องยนต์ ระยะละ 1 อาคาร มีมูลค่าการลงทุน ระยะละ 5,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินจำนวน 15,000 ล้านบาท และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาลงทุน

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม และ สนข. จะส่งผลการศึกษาดังกล่าวให้กองทัพเรือ เพื่อศึกษาความเหมาะสม และส่งผลการศึกษาดังกล่าวให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานและศูนย์ซ่อมอากาศยาน เพื่อหารือร่วมกัน ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ต่อไป

"มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"

ที่มา,ผู้เสนอ : กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ