การเข้าร่วมการประชุมระดับสูงของประมุขรัฐและหัวหน้ารัฐบาล ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ ๒๑ และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ ๑๑

ข่าวทั่วไป Saturday November 28, 2015 15:42 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมระดับสูงของประมุขรัฐและหัวหน้ารัฐบาลในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change – UNFCCC) สมัยที่ ๒๑ (COP 21) และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ ๑๑ เพื่อแสดงเจตนารมณ์อันแนวแน่ของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การประชุมระดับสูงของประมุขรัฐและหัวหน้ารัฐบาลในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(United Nations Framework Convention on Climate Change – UNFCCC) สมัยที่ ๒๑ (COP 21) และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ ๑๑ (CMP 11) กำหนดจัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุม Parc des Expositions du Bourget กรุงปารีส ในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ตั้งแต่เวลา ๑๑.๐๐ น. เป็นต้นไป โดยนายฟร็องซัวร์ ออลองด์(Fran?ois Hollande)ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศสจะทำหน้าที่ประธานการประชุม และนายบัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ จะร่วมกล่าวถ้อยแถลงในระหว่างการประชุมด้วย

โดยทั่วไปการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ในปีนี้ รัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ อยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำร่างความตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปี ค.ศ. ๒๐๑๕ ให้แล้วเสร็จภายในช่วงการประชุม เพื่อให้ความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ. ๒๐๒๐ ดังนั้น สาธารณรัฐฝรั่งเศสในฐานะเจ้าภาพการประชุมจึงได้จัดการประชุมระดับสูงของประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาลขึ้น เพื่อสร้างพลวัตในการเจรจาความตกลงฯ

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นโอกาสให้ผู้นำประเทศต่างๆ แสดงการสนับสนุนทางการเมืองในระดับสูงสุดต่อการเจรจาจัดทำความตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จในระหว่างการประชุม COP 21/CMP 11 รวมถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยคาดว่าจะมีผู้นำเข้าร่วมการประชุมระดับสูงของประมุขรัฐและหัวหน้ารัฐบาลจาก ๑๓๙ ประเทศ (สถานะ ณ วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘) ทั้งนี้ ภายหลังเหตุการณ์ความไม่สงบในกรุงปารีสเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ผู้นำส่วนใหญ่ อาทิ สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ ๖ แห่งราชอาณาจักรโมร็อกโก เจ้าชายอัลแบร์ที่ ๒ พระประมุขแห่งราชรัฐโมนาโก ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประธานาธิบดีจีน ประธานาธิบดีรัสเซีย นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีแคนาดา และนายกรัฐมนตรีอินเดีย ยังคงยืนยันที่จะเข้าร่วมการประชุม อนึ่ง ในส่วนของประเทศสมาชิกอาเซียนนั้น มีประมุขรัฐและหัวหน้ารัฐบาลที่ตอบรับเข้าร่วมการประชุม ได้แก่ พระบาทสมเด็จ-พระบรมนาถนโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์กัมพูชา ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และนายกรัฐมนตรีเวียดนาม

โอกาสนี้นายกรัฐมนตรี จะกล่าวถ้อยแถลง โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้ เพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับฝรั่งเศสต่อเหตุความรุนแรงในกรุงปารีส แสดงเจตนารมณ์อันแนวแน่ของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเสนอว่าในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ละประเทศควรมีแนวทางในการดำเนินการพัฒนาใหม่ที่มีความยั่งยืนอย่างแท้จริง ไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งมุ่งเน้นการเสริมสร้างความสมดุลระหว่างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาเป็นแนวทาง พร้อมเน้นย้ำว่า ประเทศต่างๆ จะไม่สามารถบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนได้หากยังคงต้องเผชิญหน้ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงทางอาหาร ความพยายามในการขจัดความยากจน และการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไทยได้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ ที่ร้อยละ ๒๐ ถึง ๒๕ รวมถึงบทบาทของไทยในฐานะประธานกลุ่ม ๗๗ และความพร้อมที่จะเป็น “สะพานเชื่อม” ระหว่างประเทศต่างๆ

*************************

กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ