มะม่วงเบาผลไม้ถิ่นใต้ใช้ วทน. แปรรูปเพิ่มมูลค่า

ข่าวทั่วไป Monday November 2, 2015 13:58 —สำนักโฆษก

29 ตุลาคม 2558 ณ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา / สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วยประชาสัมพันธ์องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมผลสำเร็จของการใช้องค์ความรู้ด้าน วทน. ช่วยเหลือกกลุ่มวิสาหกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านนาออก ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัสงขลา โดยสนับสนุนผ่านเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมะม่วงเบาและมะม่วงพิมเสนเบาให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่หลากหลายและมีคุณภาพ เพื่อยกระดับมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าผลผลิตมะม่วงเบาแปรรูปให้แก่เกษตรกรโดยผ่านขั้นตอนการศึกษาการวิจัยที่ถูกต้องตามกระบวนการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ผศ.พงษ์เทพ เกิดเนตร หัวหน้าสาขาคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า สืบเนื่องจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ การบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงอาหารของจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 ซึ่งจัดโดย วท. ประกอบกับการสำรวจพื้นที่และการเข้าพบปะพูดคุยกับผู้นำกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มส่งเสริมอาชีพ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนสำนักงานเกษตรอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ทำให้ทราบว่าประชากรในหมู่ที่ 3, 4, 5 และหมู่ 6 ของตำบลสทิงหม้อ มีการปลูกมะม่วงเบาและมะม่วงพิมเสนเบาเป็นจำนวนมาก ทั้งลักษณะการปลูกแบบเดี่ยวและแบบไร่นาสวนผสม เนื่องจากมะม่วงดังกล่าวสามารถเพาะปลูกได้ดีในเขตพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดสงขลา ส่งผลให้มีต้นทุนในการผลิตต่ำและมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดทั้งปี เกษตรกรส่วนใหญ่จำหน่ายผลผลิตในรูปผลสดและมีการนำมาแปรรูปบ้างในช่วงที่ผลผลิตออกมามาก แต่ยังประสบปัญหาเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ ปัญหาด้านกรรมวิธีการผลิต การควบคุมคุมภาพ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของตลาด ตลอดจนปัญหาด้านบรรจุภัณฑ์ และการตลาดอย่างต่อเนื่อง

มะม่วงเบาเป็นพืชประจำถิ่นที่ปลูกได้ดีในภาคใต้ มีปลูกเฉพาะถิ่นตั้งแต่สมัยโบราณ จังหวัดนครศรีธรรมราชจนถึงจังหวัดยะลา ปัตตานี ซึ่งมะม่วงเบาเป็นมะม่วงพื้นเมืองที่ติดผลง่ายมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ เนื้อผลขณะดิบหรือแก่จะฉ่ำน้ำ ให้น้ำเยอะ มีรสเปรี้ยว จึงนิยมปลูกเพื่อเก็บผลดิบใช้ประกอบอาหารจำพวกยำ ผลดกเต็มต้นเป็นพวง แต่ละพวงมีผลตั้งแต่ 8-15 ผลขึ้นไป มีผลขนาดเล็กประมาณเท่าไข่ไก่

ผศ.พงษ์เทพ กล่าวต่อว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้นำองค์ความรู้ด้าน วทน. โดยคณาจารย์และนักศึกษาจากหลักสูตรอาหารและโภชนาการ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สงขลา เป็นผู้ถ่ายทอดการแปรรูปและการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากมะม่วงเบาและมะม่วงพิมเสนเบาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ความมั่นคงด้านอาหารให้กับกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มส่งเสริมอาชีพ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในตำบลสทิงหม้อ โดยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองคุณภาพจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เป็นสินค้าโอทอป ทั้งนี้เพื่อให้ชุมชนดังกล่าวมีความเข้มแข็งยั่งยืนในอาชีพต่อไป

การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมะม่วงเบาและมะม่วงพิมเสนเบา สามารถทำได้หลายผลิตภัณฑ์ ได้แก่ การใช้น้ำมะม่วงทดแทนน้ำมะนาวในน้ำยำ มะม่วงเบาผลแก่สามารถนำมาแปรรูปเป็นแยมมะม่วง ส่วนมะม่วงเบาระยะผลอ่อนนั้นนำมาแปรรูปเป็นมะม่วงเบาแช่อิ่ม/แช่อิ่มอบแห้งและน้ำมะม่วงพร้อมดื่ม (พาสเจอไรซ์) ได้อีกด้วย น้ำมะม่วงในภาชนะปิดสนิท (สเตอริไลซ์) ไวน์มะม่วง มะม่วงเบาผงพร้อมดื่ม และการใช้ประโยชน์ส่วนเหลือจากมะม่วง ทุกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจากมะม่วงเป็นการแปรรูปและใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับมะม่วง และยังเป็นอาหารอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้บริโภค ทั้งนี้ การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านกรรมวิธีการผลิตที่เหมาะสม การควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐาน รวมถึงองค์ความรู้ด้านบรรจุภัณฑ์และการจำหน่าย เพื่อให้ผู้บริโภคพึงพอใจและปลอดภัยถือเป็นสิ่งที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเทคโนโลยีทุกด้านได้ผ่านการศึกษาและวิจัยจากทีมงานคุณภาพ

ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์

ประสานงานได้ที่ : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ