ระดมความคิดเห็นแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา

ข่าวทั่วไป Wednesday November 4, 2015 15:43 —สำนักโฆษก

นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา เมื่อวันพุธที่ 4 พฤศจิกายน 2558 โดยมีนายไมเคิล เดวิด เซลบีย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, รองศาสตราจารย์นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะบุคลากร สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และหน่วยงานอื่นๆ เข้าร่วมประชุม คือ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลในสถานศึกษาจำนวนมาก กว่าร้อยละ 80 เป็นประเด็นการร้องเรียนความไม่ชอบธรรมและการประพฤติผิดในสถาบันอุดมศึกษา โดยมีประเด็นหลักๆ ในการร้องเรียน 3 ประการ คือ การสรรหาผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัยที่ไม่เป็นธรรม, การจัดการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพและไม่ได้มาตรฐาน และการคัดลอกผลงานทางวิชาการเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะ รวมถึงการจ้างทำและคัดลอกวิทยานิพนธ์

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นย่อยอื่นๆ อาทิ การจัดทำหลักสูตรปลอมโดยมีอาจารย์มาแขวนชื่อในหลักสูตรแต่ไม่ได้ทำการสอนจริง รวมถึงการอนุมัติปริญญาโดยที่หลักสูตรยังไม่ผ่านพระราชกฤษฎีกา, การเปิดหลักสูตรปริญญาเอกที่ไม่ได้มาตรฐาน, การบริหารงานที่ไม่โปร่งใส เกิดการทุจริตคอร์รัปชันในการบริหารจัดการ, การประมูลงาน, ปัญหากรรมการสภามหาวิทยาลัยร่วมกันทุจริต, และการจัดอบรมศึกษาดูงานให้กับหน่วยงานในส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการตั้งงบประมาณที่ไม่เป็นจริง ทำให้เกิดการใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์ เป็นต้น

จากปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาดังกล่าว จึงได้ให้ สกอ.เชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งเปรียบเสมือนเป็นผู้ผดุงความยุติธรรมของประเทศ มาระดมความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาและหารือบทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิด เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและยุติธรรมในสถาบันอุดมศึกษา โดยรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ และ สกอ.จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ทั้งนี้ จากการหารือกับหน่วยงานต่างๆ ในครั้งนี้ ทำให้กระทรวงศึกษาธิการได้เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาในแง่มุมต่างๆ ของกฎหมาย ซึ่งหากเกิดการกระทำผิด ผู้ที่กระทำผิดต้องรับผิดหลายกระทงนอกจากการโดนไล่ออก อาทิ การยึดเงินคืน การเอาผิดทางอาญา การฟ้องศาลปกครอง การฟ้องตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ความผิดการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา การฟ้องละเมิด เป็นต้น

สำหรับประเด็นการคัดลอกผลงานวิชาการ ที่ผ่านมาเมื่อพบว่ากระทำความผิด ก็ไล่ออกแล้วจบ ไม่เป็นข่าว ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่ามหาวิทยาลัยควรดำเนินการมากกว่าการตั้งกรรมการสอบสวนแล้วไล่ออก เช่น การดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา การริบทรัพย์ เนื่องจากเป็นทรัพย์ที่ไม่พึงจะได้จากการเลื่อนวิทยฐานะ และหากผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของผลงานอยู่ต่างประเทศ สกอ.ก็สามารถรับเป็นตัวแทนในการฟ้องร้องได้

ส่วนมาตรการที่จะดำเนินการตามข้อร้องเรียน หากหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องหลักฐานพบว่ามีการกระทำความผิด ก็สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องรอให้บุคคลอื่นมายื่นร้องเรียน แม้แต่บัตรสนเท่ที่มีหลักฐานครบถ้วนโดยไม่ระบุชื่อผู้ร้องเรียน สกอ.ก็ยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้ทันที

หลังจากการสรุปผลประชุมครั้งนี้ จะมีการกำหนดมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือน เพื่อเป็นแนวทางที่จะต้องนำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งจะแจ้งให้สังคมได้รับทราบต่อไปด้วย เพื่อให้การแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลมีประสิทธิภาพและยุติธรรม เพราะสังคมมีคาดหวังให้วงการอุดมศึกษา อันเป็นที่รวมปัญญาชนของประเทศ ควรมีกรณีฟ้องร้องน้อยกว่าองค์กรอื่น และมีแนวทางการดำเนินงานในรูปแบบใหม่ด้วยการมีหน่วยงานผดุงความยุติธรรมต่างๆ เป็นพี่เลี้ยงและให้คำปรึกษา

อรพรรณ ฤทธิ์มั่น

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

5/11/2558

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ