ส่วนระยะกลางและระยะยาว ได้มอบให้กระทรวงเกษตรฯ ไปเร่งศึกษามาตรการดูแลเกษตรกรในหลายด้าน โดยให้ยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง ว่าพื้นที่ไหนควรจะปรับเปลี่ยนไปทำการเกษตรรูปแบบใด แล้วเข้าไปให้ความรู้ คำแนะนำ หรือสร้างแรงจูงใจเพื่อทำการเกษตรที่จะเป็นการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้แก่เกษตรกร ซึ่งเกษตรกรอาจจะยังคงปลูกข้าวที่เป็นวิถีชีวิต หรืออาชีพดั้งเดิมที่ทำมานาน ก็ต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เกษตรกรให้ได้ รวมถึงให้ช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีการผลิต โดยมอบให้กระทรวงเกษตรไปศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมไปถึงการตั้งผู้รับผิดชอบสินค้าแต่ละชนิดเพื่อให้แก้ปัญหาได้รวดเร็วและถูกจุด ซึ่งคาดว่าจะวางแผนได้แล้วเสร็จภายในปีครึ่ง
สำหรับประเด็นสำคัญที่ให้ความสำคัญ คือ การแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฏหมายขาด การรายงานและควบคุม หรือ ไอยูยู ที่ตอนนี้ยังไม่ทราบผลตัดสินจากสหภาพยุโรป แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็จะต้องดำเนินเป็นมาตรการต่อเนื่อง ซึ่งจะมีนายกรัฐมนตรีลงมากำกับดูแลเอง ขณะที่สหกรณ์เพื่อการเกษตรในไทยจะเร่งฟื้นฟูอย่างจริงจัง โดยอยู่ระหว่างคัดแยกกลุ่มสหกรณ์ เป็นกลุ่มที่มีประสิทธิภาพ กลุ่มที่ต้องปรับปรุงและกลุ่มที่ต้องยกเลิก
ด้าน พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งรัดให้ศูนย์เรียนรู้ที่อยู่ทั้ง 882 ศูนย์ทั่วประเทศ เป็นหน่วยงานสำรวจความต้องการของเกษตรกรและจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยจะบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปแผนระยะกลางและระยะยาวได้ภายใน 6 เดือน
กลุ่มโฆษกและวิเคราะห์ข่าว กองเกษตรสารนิเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โทร 02-2810859 แฟกซ์ 02-2822871
www.moac.go.th
www.facebook.com/kasetthai
ที่มา: http://www.thaigov.go.th