มหาดไทยสั่งผู้ว่าฯ กำชับทุกหน่วย คุมเข้มป้องกันอุบัติภัยช่วงเทศกาลลอยกระทง รณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ และเน้นย้ำมาตรการทางกฎหมาย

ข่าวทั่วไป Monday November 23, 2015 15:04 —สำนักโฆษก

วันนี้ (23 พ.ย.58) นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ด้วยในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง มีหลายพื้นที่ของจังหวัดและกรุงเทพมหานครได้จัดให้มีงานเทศกาลวันลอยกระทง มีช่วงระยะเวลาการจัดงานแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และประชาชนนิยมในการเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสถานที่ริมน้ำ โป๊ะ ท่าเทียบเรือโดยสาร นอกจากนี้ประชาชนยังนิยมจุดพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง และการปล่อยโคมลอยเพื่อเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลดังกล่าว ซึ่งอาจจะเป็นการสร้างความเดือดร้อน และก่อให้เกิดอัคคีภัยตลอดจนอุบัติเหตุสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ ซึ่งรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา มีความห่วงใยความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน โดยได้ฝากให้ทุกพื้นที่ช่วยกันดูแลเรื่องความปลอดภัยในช่วงเทศกาลวันลอยกระทงที่จะมีการปล่อยโคมลอย โคมควัน การเล่นพลุ ท่าเรือ โป๊ะ และที่มีประชาชนสัญจรให้มีความปลอดภัยกับประชาชน

โดยที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือแจ้งจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันอุบัติภัยและการรักษาความสงบเรียบร้อยในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง เช่น การเข้มงวดกวดขัน การพิจารณาออกใบอนุญาต หรือต่ออายุใบอนุญาตให้ทำ สั่ง นำเข้า หรือค้าดอกไม้เพลิง การตรวจตราอาคารสถานที่ โป๊ะ ท่าเทียบเรือโดยสาร และสิ่งปลูกสร้างในบริเวณการจัดงานให้มีความมั่นคงแข็งแรงเพื่อรองรับผู้ใช้บริการและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และเตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันทีเมื่อเกิดภัย รวมทั้งการเข้มงวดกวดขันตามมาตรการเน้นหนักในเรื่องการสร้างความปลอดภัยทางถนน 10 มาตรการอย่างเคร่งครัด เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้การป้องกันอุบัติภัยในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กระทรวงมหาดไทย จึงได้มีหนังสือสั่งการด่วนที่สุดไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้ดำเนินการ ดังนี้ 1) มาตรการทางกฎหมาย เนื่องจากการปล่อยโคมลอยในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอัคคีภัย อันเป็นสาธารณภัยที่ส่งผลต่อสาธารณชน ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 พิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 22 วรรคสาม สั่งการให้งดเว้นการกระทำดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่อาจจะเกิดขึ้น 2) มาตรการด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ให้จังหวัดรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ตระหนักถึงภัยอันตราย ตลอดจนบทลงโทษทางกฎหมายกรณีการกระทำที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน เช่น การปล่อยโคมลอย โคมควัน ลูกโป่งสวรรค์ การยิงลำแสงเลเซอร์ และการใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) หากเกิดผลกระทบต่อการบินและอากาศยาน จะมีความผิดและได้รับบทลงโทษทางกฎหมายที่รุนแรง ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2558 และแจ้งเตือนการดัดแปลงและเล่นประทัด พลุ ดอกไม้เพลิงอย่างคึกคะนองจนเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน จะเป็นความผิดที่ต้องได้รับโทษทางกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และความผิดฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ให้กำหนดพื้นที่ที่ไม่สมควรให้มีการเล่นดอกไม้เพลิง เนื่องจากเป็นการสร้างความเดือดร้อน รำคาญ และเป็นอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 พร้อมทั้งให้เข้มงวดสถานที่ห้ามจำหน่ายสุรา ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เพื่อลดปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น อุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับ เหตุทะเลาะวิวาท และปัญหาอาชญากรรม

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำชับเจ้าหน้าที่ให้ถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด รวมทั้งขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว เพื่อร่วมกันสร้างความปลอดภัยและค่านิยมที่ดีงามของประเพณีไทย.

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ