กระทรวงวิทย์ฯ ชูผลงาน 12 เดือน เป็นข้อต่อสำคัญในการใช้นวัตกรรมเพิ่มความสามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจ วางโครงสร้างพื้นฐานหนุนประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน เตรียมเปิดเมืองนวัตกรรมอาหารต้นปีหน้า หลังโรดโชว์ขายความเหนือชั้นกับความพร้อมการลงทุน

ข่าวทั่วไป Thursday December 24, 2015 15:32 —สำนักโฆษก

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงผลงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในรอบ 12 เดือนว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เร่งดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โอท็อป ผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ (Startup) และเกษตรกร ตลอดจนวางโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอนาคตเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งความร่วมมือต่างประเทศที่จะขยายผลการลงทุน

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า สำหรับมาตรการด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ผลักดันโครงการฟู๊ดอินโนโพลิส (Food Innopolis) หรือเมืองนวัตกรรมอาหาร เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร โดยมุ่งเน้นที่จะดึงดูดบริษัทผู้ผลิต หรือวิจัยพัฒนาอาหารชั้นนำของโลกมาลงทุนในกิจการด้านนวัตกรรมอาหารในประเทศไทย และสนับสนุนให้บริษัทเอกชนไทยในทุกระดับให้เข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมอาหารระดับโลก เพื่อยกระดับความสามารถ ตลอดจนเพิ่มมูลค่า และการจ้างงานแรงงานฐานความรู้ให้เพิ่มมากขึ้น โดยโครงการดังกล่าวพร้อมเปิดให้บริการตั้งแต่ต้นปี 2559 อีกหนึ่งโครงการที่สำคัญคือ คูปองนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีเป้าหมายสนับสนุนให้เอสเอ็มอี 340 ราย นำองค์ความรู้หรือผลงานวิจัยมาสร้างนวัตกรรมและนำร่องสร้างต้นแบบเชิงพาณิชย์ ส่งเสริมเครือข่ายผู้ให้บริการนวัตกรรม 500 ราย โดยจัดสรรงบประมาณไว้ 515 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดมูลค่าการลงทุนใหม่จากภาคเอกชนอีกไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ในธุรกิจนวัตกรรมไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจอีกไม่ต่ำกว่า 2,550 ล้านบาท ที่สำคัญคือเป็นครั้งแรกที่บริหารโครงการร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อให้เกิดการต่อยอดและเอกชนรับลูกไปสานต่อกันเองมากขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ยังเร่งสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ หรือ Startup Voucher เพื่อผลักดันธุรกิจให้เข้าสู่กระบวนการเร่งการเจริญเติบโต 50 ราย โดยให้คำปรึกษา รับการอบรมทั้งด้านการสร้างความคิด การพัฒนา การออกแบบด้านธุรกิจ การสร้างต้นแบบ การศึกษาตลาด การสำรวจตลาด รวมถึงการเชื่อมโยงธุรกิจให้เข้าถึงแหล่งทุนที่เหมาะสม การจัดเวทีประกวดนวัตกรรม ฯลฯ โดยจัดสรรงบประมาณไว้ 50 ล้านบาท ทั้งนี้จะเป็นแบบอย่างให้เศรษฐกิจนวัตกรรมที่มี Startup เป็นดาวรุ่งดวงใหม่เกิดขึ้นทวีคูณโดยการริเริ่มสร้างสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ที่ทันสมัย เพื่อชักนำให้มีนักสร้างสรรค์ไปพร้อม ๆ กับนักลงทุนในธุรกิจสมัยใหม่ที่มีความเสี่ยงแต่ผลตอบแทนสูงได้ (Venture Capital) โครงการหิ้งสู่ห้าง 30,000 บาท ทุก IP ซึ่งเป็นการต่อยอดความสำเร็จของโครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าถึงสิทธิในการใช้ผลงานที่มีการจดสิทธิบัตร 3-5 ปี และมีค่าธรรมเนียมเพียง 30,000 บาท เป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งเพื่อนำงานวิจัยจากหิ้งมาแต่งตัวเข้าห้าง คาดว่าจะมีมหาวิทยาลัยจำนวนมากที่จะเข้าโครงการ

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลเน้นส่งเสริมเอสเอ็มอี กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 986 ล้านบาท เพื่อสร้างขีดความสามารถและสร้างความเป็นเลิศของเอสเอ็มอี โดยอาศัยกลไกเครือข่ายมหาวิทยาลัย และขยายการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ ITAP เพื่อสร้างความเข้มแข็งโดยแก้ไขปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้เอสเอ็มอี มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์เดิม หรือ พัฒนาให้ได้ระบบมาตรฐาน โดยให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีที่เข้าโครงการสามารถพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาและยกระดับเทคโนโลยี ไปทั้งสิ้น 4,425 ราย โดยรัฐจัดหาผู้เชี่ยวชาญพร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่าย (Matching fund) กึ่งหนึ่ง เป็นโอกาสของเอสเอ็มอีไทย ที่รัฐให้การสนับสนุนในการยกระดับคุณภาพการผลิตอย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้ประกอบการหลายรายขยายผลไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่และลงทุนวิจัยมากขึ้นโดยลำดับ

นอกจากนี้ ยังเน้นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการโอท็อป ด้วย วทน. 5 ภูมิภาค โดยบูรณาการงานร่วมกับจังหวัดเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการโอท็อปและผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งการจัดระบบการสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของประกอบการ วทน. ที่ครอบคลุมการจัดระบบพี่เลี้ยง ที่ปรึกษาเทคโนโลยี เชื่อมโยงการบริการด้านการตลาดและการเงิน โดยมีสถานประกอบการเข้าร่วมกว่า 330 ราย และได้ดำเนินการยกระดับวิสาหกิจชุมชนและเอสเอ็มอี ไปแล้วกว่า 100 ราย ทั้งนี้ทำให้ชุมชนตระหนักถึงมิติคุณภาพของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นไปจนถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ก่อนส่งให้การตลาดต่อไป นอกจากนี้ยังมีมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 300% โดยความร่วมมือกับกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนาของประเทศโดยรวมให้ได้ 1% ของจีดีพี รวมถึงเพิ่มสัดส่วนการวิจัยและพัฒนาของเอกชนกับภาครัฐ เป็น 70 ต่อ 30

นอกจากนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ดำเนินการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคต ในหลายโครงการได้แก่ โครงการ ทาเลนท์โมบิลิตี้ (Talent Mobility) เพื่อแก้ปัญหาการกระจุกตัวขององค์ความรู้ที่อยู่กับบุคลากรในภาครัฐ ให้สามารถถ่ายทอดไปสู่ภาคเอกชนได้ โดยจูงใจให้นักวิจัยในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของรัฐสามารถไปปฏิบัติราชการในภาคเอกชน ปัจจุบันได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวก หรือ Clearing House แล้ว 5 แห่ง กระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายนักวิจัยแล้ว 111 คน ผู้ช่วยนักวิจัย 77 คน ใน 51 โครงการและจาก 47 บริษัท ทั้งนี้ มีบริษัทได้รับการวินิจฉัยปัญหาและวิเคราะห์ความต้องสนับสนุนด้าน วทน. แล้ว 1,125 บริษัท อยู่ระหว่างการจับคู่ 134 โครงการ ก่อให้เกิดความร่วมมือและการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย โครงการบัญชีนวัตกรรม มีการรวบรวมผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมที่พัฒนาโดยคนไทย และได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมในประเทศหรือมาตรฐานสากลแล้ว โดยปัจจุบันมีสินค้าและบริการขอเข้ารับการขึ้นทะเบียนแล้วถึง 840 รายการ และยังเปิดให้บริการกับผู้ที่สนใจผ่านเว็บไซต์ www.innovation.go.th โดยร่วมมือกับสำนักงบประมาณในการจัดทำบัญชีความต้องการจัดซื้อของภาครัฐเพื่อเป็นตลาดภาครัฐให้กับนวัตกรรมไทย โดยปรับระบบการจัดซื้อจัดจ้างทางภาครัฐให้เอื้อต่อธุรกรรม ทั้งนี้ สิ่งที่ วท. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องคือ การพัฒนาบุคลากรควบคู่ไปกับพัฒนาเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมสนับสนุนภายในประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตของเมกะโปรเจ็กต์ด้านระบบขนส่งทางราง

ขณะเดียวกัน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดทำโครงการฐานข้อมูลห้องปฏิบัติการเพื่อการรับรองมาตรฐานและคุณภาพ สำหรับการบริการภาคอุตสาหกรรม โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบมาตรฐานจาก 10 กระทรวงเชื่อมโยงฐานข้อมูล ทั้งการออกใบรับรองและห้องปฏิบัติการทดสอบในประเทศ นอกจากนี้ยังทดสอบการให้บริการของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ผ่านเว็บไซต์ one stop service ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นการให้บริการแบบครบวงจร สามารถทำรายการส่งตัวอย่างทดสอบ และตรวจสอบติดตามการให้บริการผ่านระบบออนไลน์ ที่เว็บไซต์เดียว ซี่งมีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็ว โดยจะเปิดตัวให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป ในช่วงระยะเวลาเริ่มต้น สามารถใช้บริการได้ทั้งช่องทางเว็บไซต์ onestop.most.go.th หากไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้ ก็ยังคงสามารถติดต่อกับหน่วยงานโดยตรงเพื่อส่งตัวอย่างทดสอบ สอบเทียบได้ตามปกติ และในอนาคตจะช่องทาง one stop service ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะเป็นช่องทางหลักของการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ และสะดวกรวดเร็ว

ในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ดำเนินโครงการสร้าง เครือข่ายบริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 60 เครือข่าย ใน 19 ลุ่มน้ำ และได้รับการขยายผลสู่หมู่บ้านอื่นๆ อีก 543 หมู่บ้าน โดยการนำความรู้ไปให้ชาวบ้านได้เรียนรู้วิธีการบริหารจัดการน้ำโดยใช้แผนที่ดาวเทียม ข้อมูลระบบโทรมาตรและเทคโนโลยีสารสนเทศจาก www.thaiwater.net เพื่อการบริหารจัดการน้ำในชุมชน รวมถึงการพัฒนาตามแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ การแปรรูปสินค้าทางการเกษตร และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร อันเป็นการสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ นอกจากนี้ ยังใช้ เทคโนโลยีดาวเทียมเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน การบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ตลอดจนน้ำท่วมน้ำแล้ง ขณะเดียวกันยังใช้ดาวเทียมเพื่อการพัฒนา โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กำลังดำเนินการจัดหาดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนาดวงที่สอง รองรับการตัดสินใจเชิงนโยบายในระดับประเทศถึงระดับพื้นที่ ตลอดจนการบูรณาการการใช้ดาวเทียมเพื่อการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผังเมือง น้ำ และอุบัติภัย เป็นต้น

ในด้านความร่วมมือต่างประเทศ ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ได้มีการสร้างความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น นอกเหนือจากความร่วมมือระดับหน่วยงาน อาทิ ญี่ปุ่น มีความร่วมมือด้านการสนับสนุนทุนทางด้านพัฒนานโยบายเทคโนโลยี Climate Change ความร่วมมือพัฒนาวิศวกรคุณภาพ ตลอดจนความร่วมมือด้านอวกาศ สำหรับสาธารณรัฐประชาชนจีน ล่าสุดมีการหารือโดยผู้นำระดับสูงในการเร่งสร้างความร่วมมือด้าน ยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีระบบราง การสร้างเศรษฐกิจนวัตกรรมและอุทยานวิทยาศาสตร์ เพื่อการพัฒนาภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก และกำลังขยายผลความร่วมมือด้านอวกาศ โซลาเซลล์ ยานยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ สำหรับสหพันธรัฐรัสเซีย กำลังจัดทำความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนบุคคลากรวิจัย ใน 5 สาขา ได้แก่ เทคโนโลยีนาโน เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีอวกาศ มาตรวิทยา และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และสำหรับสหราชอาณาจักร โดยมีกองทุนความร่วมมือนิวตัน ภายใต้วงเงินสนับสนุน 82.5 ล้านบาท เพื่อการวิจัยร่วมและการสร้างนวัตกรรม ส่วนในประเทศเพื่อนบ้านเช่น สปป.ลาว มีความร่วมมือด้าน วทน. ครอบคลุม 14 สาขา ที่ไทยให้ความช่วยเหลือสนับสนุน นอกจากนั้นยังมีอีกหลายประเทศที่อยู่ระหว่างการหารือและจะมีความร่วมมือให้แน่นแฟ้นขึ้นในอนาคต ได้แก่ อียู สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส เกาหลี และประเทศในกลุ่มอาเซียน เป็นต้น

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทร. 02 333 3728-3732 โทรสาร 02 333 3834

E-Mail : pr@most.go.th Facebook : sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ