นายกรัฐมนตรีขอให้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการบริหารกิจการสหกรณ์ให้สามารถพึ่งตนเองได้และมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Thursday February 25, 2016 15:56 —สำนักโฆษก

วันนี้ (24ก.พ.59) เวลา 14.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลสหกรณ์ดีเด่น ประจำปี 2559 เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี สหกรณ์ไทย จำนวน 26 รางวัล ประกอบด้วย 1) รางวัลนักสหกรณ์สหกรณ์แห่งชาติ จำนวน 1 รางวัล (นางสาวพีรรัตน์ อังกุรรัต) 2) รางวัลสหกรณ์ดีเด่นระดับภาค จำนวน 16 รางวัล และ3) รางวัลกลุ่มเกษตรกรดีเด่นระดับภาค จำนวน 9 รางวัล พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการ 100 ปี สหกรณ์ไทย พัฒนาเศรษฐกิจไทย สร้างสังคมไทยมั่นคง โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ประธานชุมนุมสหกรณ์ 7 ประเภท ประธานกรรมการสันนิบาตสหกรณ์ ผู้นำสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน

สำหรับการจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี การสหกรณ์ไทยอย่างต่อเนื่องทั้งปี 2559 เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทยที่ทรงริเริ่มลองจัดตั้งสหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินเชื่อขึ้นเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกจากการรวมตัวของสมาชิกเพียง 16 คน และทุนดำเนินงานเพียง 30,080 บาท ได้ขยายและเติบโตมาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบันสหกรณ์ในประเทศไทยได้แบ่งประเภทสหกรณ์ออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ประมง สหกรณ์นิคม สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พร้อมกันนี้ยังเพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของสหกรณ์ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับมากยิ่งขึ้น ตลอดจนย้ำให้คนไทยเห็นถึงคุณค่าและบทบาทของขบวนการสหกรณ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยให้มีความเข้มแข็งมาตลอด 100 ปี ที่ผ่านมาอีกด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สหกรณ์กับการพัฒนาประเทศ” เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี สหกรณ์ไทยตอนหนึ่ง โดยกล่าวในนามรัฐบาลขอบคุณผู้บริหาร คณะกรรมการผู้นำสหกรณ์ และสมาชิกที่ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเป็นอย่างดีในการเป็นกลไกสำคัญและพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศในช่วงระยะเวลาผ่านมา ทั้งนี้การบริหารกิจการสหกรณ์วันนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาและปฏิรูประบบสหกรณ์ทั้งหมดให้มีความเข้มแข็งในอนาคต โดยประชาชนทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันด้วยความอดทนและมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับระบบสหกรณ์ทั้งหมด 7 ประเภท ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องของประชารัฐเพื่อให้ประชาชนพัฒนาและมีความเข้มแข็งด้วยตนเองตามระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้องและมีธรรมาภิบาล

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สหกรณ์ต้องเป็นสมาคมที่ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้ได้ โดยทุกคนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของทั้งเป็นผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้บริหาร มีการแบ่งปันผลกำไรในระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรม สมาชิกทุกคนมีเสียงเท่ากัน ขณะเดียวกันการดำเนินงานของสหกรณ์ก็ไม่ได้มุ่งเน้นผลกำไรหรือผลประกอบการเพียงอย่างเดียวเหมือนเช่นภาคธุรกิจ แต่มุ่งหวังเพื่อประโยชน์ของสมาชิกและประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานเจริญเติบโตและขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันมีสหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้น เพื่อดำเนินกิจการจำนวนทั้งสิ้น 8,230 แห่ง แบ่งเป็น ๗ ประเภท ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรประมาณ 4,466 แห่ง สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 554 แห่ง สหกรณ์ออมทรัพย์ 1,496 แห่ง สหกรณ์นิคม 96 แห่ง สหกรณ์บริการ 1,267 แห่ง สหกรณ์ประมง 109 แห่ง และสหกรณ์ร้านค้า 242 แห่ง อย่างไรก็ตามแม้จากการประเมินการดำเนินกิจการของสหกรณ์ทั้งหมดพบว่าบางแห่งมีความเข้มแข็ง สามารถเป็นที่พึ่งให้กับสหกรณ์อื่นได้ แต่ยังมีสหกรณ์บางส่วนที่ยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ ต้องให้การช่วยเหลือเพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการบริหารกิจการให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น รวมถึงข้อเสียที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสหกรณ์ที่มีโอกาสในเรื่องของการทุจริต เพราะสหกรณ์บางส่วนยังไม่มีความพร้อมในเรื่องของบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการจัดทำบัญชี แผนงานโครงการ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องดำเนินการให้ทุกอย่างดีขึ้นโดยเร็ว โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดชั้นความเข้มแข็งของสหกรณ์ เพื่อวางแนวทางในการพัฒนายกระดับศักยภาพของสหกรณ์ ซึ่งสามารถดำเนินการจัดชั้นได้ 4 ระดับ ดังนี้

ชั้นที่ 1 เป็นสหกรณ์ที่มีความสามารถในการบริการสมาชิกได้มากกว่าร้อยละ 70 และมีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจในระดับมาตรฐานขึ้นไป และมีระดับการควบคุมภายในดีถึงดีมาก มีจำนวน 2,252 สหกรณ์ ชั้นที่ 2 เป็นสหกรณ์ที่มีความสามารถในการบริการสมาชิกได้ระหว่างร้อยละ 60 - 70 และมีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจและระดับการควบคุมภายในอยู่ในระดับพอใช้ มีจำนวน 4,102 สหกรณ์ ชั้นที่ 3 เป็นสหกรณ์ที่มีความสามารถในการบริการสมาชิกได้ต่ำกว่าร้อยละ 60 และมีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับต้องปรับปรุง มีข้อบกพร่องซึ่งยังแก้ไขไม่แล้วเสร็จ มีจำนวน 788 สหกรณ์ ชั้นที่ 4 เป็นสหกรณ์ที่นายทะเบียนสั่งเลิกกิจการแล้วอยู่ในระหว่างการชำระบัญชี มีจำนวน 1,088 แห่ง

ขณะนี้รัฐบาลได้สั่งการให้มีการตรวจสอบระบบสหกรณ์ทั้ง 7 ประเภท ซึ่งมีทั้งที่เป็นสหกรณ์ที่ดีและไม่ดี จึงต้องมีการปรับโครงสร้างใหม่ทั้งระบบ ทั้งนี้ การดำเนินการทุกอย่างจะต้องยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประกอบด้วย โดยได้มีการสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการแล้ว และได้มีการจัดทำแผนพัฒนาความเข้มแข็งสหกรณ์ พ.ศ. 2559 2560 ซึ่งมีมาตรการในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ ดังนี้ สหกรณ์ชั้นที่ 1 จะต้องมีสหกรณ์เพิ่มขึ้นจากจำนวน 2,252 สหกรณ์ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 4,629 สหกรณ์ ชั้นที่ 2 จากเดิมมีอยู่จำนวน 4,102 สหกรณ์ จะต้องให้เหลือ จำนวน 2,173 สหกรณ์ ชั้นที่ 3 จากเดิมมีอยู่ จำนวน 788 สหกรณ์ ให้เหลือ จำนวน 340 สหกรณ์ และชั้นที่ 4 นายทะเบียนสั่งเลิกกิจการและอยู่ในระหว่างการชำระบัญชี มีจำนวน 1,088 แห่ง นั้น จะต้องไม่มีสหกรณ์อยู่ในชั้นนี้อีกต่อไป

อีกทั้ง รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริม สนับสนุนระบบสหกรณ์ในทุก ๆ ด้าน ด้วยกลไก “ประชารัฐ” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชน โดยสหกรณ์สามารถเป็นโซ่กลางในการสื่อสารความต้องการของประชาชนในพื้นที่มายังรัฐบาล และส่งผ่านการสนับสนุนของภาครัฐสู่ประชาชนในพื้นที่ ทำให้ประชาชนช่วยเหลือตนเองได้ ไม่ต้องพึ่งพารัฐตลอดเวลา โดยมีเอกชนเป็นส่วนช่วยให้การขับเคลื่อนในทุกภาคส่วน มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในเรื่องของการจัดการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างยั่งยืน สหกรณ์มีความเข้มแข็ง และเป็นที่พึ่งของสมาชิกจะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมขอให้ทุกคนน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางปฏิบัติและปรับใช้ในเรื่องของการลงทุนโดยไม่หวังผลกำไรมากจนเกินไป ต้องมีเหตุมีผล มีความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกันที่ดีภายใต้ความรู้คู่คุณธรรม ซึ่งหากบริหารจัดการสหกรณ์ให้เข้มแข็งจะทำให้มีงบประมาณที่เพียงพอสามารถพัฒนาบุคลากรและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ได้ ตลอดจนมีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจในอนาคตอีกด้วย

-----------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ