รัฐบาลญี่ปุ่นพร้อมสนับสนุนกระทรวงแรงงาน ยกระดับการวิจัยและพัฒนา และพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรมไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday January 12, 2016 15:28 —สำนักโฆษก

นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 11 มกราคม 25 พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ H.E. Mr.Shiro Sadoshima เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พร้อมด้วย Mr. Akira Murakoshi ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ เข้าเยี่ยมคารวะ ณ ห้องรับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยกล่าวว่าไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กันมาอย่างใกล้ชิดและยาวนานทั้งในระดับราชวงศ์และรัฐบาล ที่ครอบคลุมหลายด้านทั้งการจ้างงานคนไทยไปทำงาน/ฝึกงานที่ญี่ปุ่น เอกชนญี่ปุ่นมาลงทุนในประเทศไทย ตลอดจนการพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งเป็นความร่วมมือที่มีขนาดใหญ่มากกว่าทุกประเทศ ในนามของรัฐบาลไทยขอบคุณสำหรับความร่วมมือที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การก่อตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน จ.ขอนแก่น และ จ.อุบลราชธานี การจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นรากฐานให้กระทรวงแรงงานผลิต/พัฒนากำลังคนป้อนให้กับสถานประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเอกชนญี่ปุ่นให้การคุ้มครองดูแลแรงงานไทยให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งความร่วมมือในการรับแรงงานและผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิคคนไทยเข้าไปทำงาน/ฝึกงานในญี่ปุ่น ทำให้คนไทยมีทักษะฝีมือและความสามารถมากยิ่งขึ้น ในโอกาสนี้จึงขอทราบปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา เพื่อจะได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาต่อไป

ด้าน H.E. Mr.Shiro Sadoshima เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยและกลุ่มอาเซียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อญี่ปุ่นด้วย พบว่าจากการ ที่อัตราการว่างงานของไทยต่ำกว่าร้อยละ 1 ย่อมหมายถึงการอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานที่อาจเป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ในขณะเดียวกันนวัตกรรมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเห็นว่าผู้เชี่ยวชาญทางด้านนวัตกรรมของไทยไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อการประกอบการด้านอุตสาหกรรม กล่าวคือมีอัตราส่วนเพียง 1,300 : ประชากร 1 ล้านคน จึงเสนอให้รัฐบาลของทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกันเพื่อพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ อาทิ ผู้จัดการ วิศวกร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค เป็นต้น เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศไทยมีจุดแข็ง มีบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากที่มาลงทุนในประเทศไทย มีมหาวิทยาลัยที่มีความร่วมมือกันหลายสาขา ซึ่งเป็น ความร่วมมือที่ดีในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

Mr. Akira Murakoshi ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ กล่าวว่า หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ได้ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี ๒๔๙๗ มีบริษัทญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นสมาชิก 1,688 บริษัท มีลูกจ้างคนไทยประมาณ 9 แสนคน อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต 590,000 คน และอุตสาหกรรมด้านบริการ 3 แสนกว่าคน จากการสำรวจข้อมูลความต้องการบุคลากรพบว่า บริษัทญี่ปุ่นมีความต้องการระดับบริหารจัดการมากที่สุด จึงเสนอให้มีการหารือกันในรายละเอียดในเวทีการประชุมด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่จะจัดโดยสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยในโอกาสต่อไป

------------------------------

ข้อมูล : สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ

สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ