ไทย-ลาว พร้อมต่อยอดความร่วมมือทุกสาขา พร้อมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของสองประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday July 6, 2016 16:19 —สำนักโฆษก

นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หารือข้อราชการกับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล เพื่อแนะนำตัว ในฐานะนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียน ที่นายกรัฐมนตรี สปป.ลาวเยือนอย่างเป็นทางการ ภายหลังจากเข้ารับตำแหน่ง และเป็นการเยือนไทยครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรีในการเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้นำคณะผู้แทนระดับรัฐมนตรีจาก 13 กระทรวงสำคัญที่กำกับดูแลงานด้านการต่างประเทศ สังคม วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว แรงงาน ความมั่นคง การค้าและการลงทุน พลังงาน การศึกษา และการคมนาคมขนส่ง ร่วมคณะ อันแสดงให้เห็นว่า ลาวให้ความสำคัญกับการเยือนไทยครั้งนี้ภายหลังการหารือ พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปการหารือดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีสปป.ลาวและคณะรัฐมนตรีลาว ซึ่งนายกรัฐมนตรีลาวแสดงความรู้สึกเป็นเกียรติและขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

ด้านความสัมพันธ์ทวิภาคี ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า ลาวกับไทยมีความใกล้ชิดกันมายาวนาน ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศมีความแน่นแฟ้นและลึกซึ้งในทุกมิติและทุกระดับ โดยนายกรัฐมนตรีลาวเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกันในช่วงปัจจุบันอยู่ในระดับที่ดีมากและนับว่ามีความใกล้ชิดกันสูงสุด โดยเชื่อว่า การหารือในวันนี้จะเป็นการปูทางความร่วมมือระหว่างกัน ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ (JC) ไทย – ลาว ครั้งที่ 21 และการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (JCR) ไทย – ลาว ครั้งที่ 3 ที่ฝ่ายลาวจะเป็นเจ้าภาพ

ด้านการเมืองและความมั่นคง นายกรัฐมนตรีเห็นว่า มีความก้าวหน้าในหลายประเด็นและเห็นพ้องที่จะเปิดช่องทางให้ผู้นำสองประเทศสามารถพูดคุยระหว่างกันโดยตรง เพื่อสร้างความใกล้ชิดและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างสองประเทศ ลดความหวาดระแวงในเรื่องที่เป็นอุปสรรคระหว่างกัน อาทิ เรื่องเขตแดน ซึ่งไทยสนับสนุนให้ใช้กลไกระดับทวิภาคีที่มีอยู่ เพื่อการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายแดน โดยย้ำว่า ไทยมีนโยบายที่มิให้นำเรื่องเขตแดนมาเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา แต่ให้เป็นเส้นเขตแดนแห่งความร่วมมือ โดยในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ผลการดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมไทย – ลาว มีความคืบหน้าและมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งนายกรัฐมนตรี สปป.ลาวเสนอให้เริ่มทำการปักปันเขตแดนในจุดที่สองประเทศตกลงกันได้แล้ว เพื่อช่วยส่งเสริมการไปมาหาสู่ระดับประชาชนให้มากขึ้น

นอกจากนี้ มีการหารือเกี่ยวกับการเปิดจุดผ่านแดน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยศึกษาจุดผ่านแดนที่สองฝ่ายเห็นว่ามีศักยภาพก่อน ตามลำดับความสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อม

ความร่วมมือแรงงาน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว กล่าวขอบคุณที่รัฐบาลไทยให้การดูแลแรงงานลาวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นอย่างดี ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แรงงานลาว ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสองประเทศ ปัจจุบัน รัฐบาลไทยกำลังเร่งจัดระเบียบแรงงานให้เป็นระบบ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้ามาทำงานของแรงงานจากลาว ทั้งรูปแบบแรงงานรายวัน รายปีและแรงงานตามฤดูกาล ทั้งนี้ เพื่อให้แรงงานดังกล่าว ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องและได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย นายกรัฐมนตรีได้ขอให้ทางการฝ่ายลาวเพิ่มจุดพิสูจน์สัญชาติ เพื่อการป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างด้วย

ทั้งนี้ สองฝ่ายยินดีที่วันนี้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานฉบับใหม่ ซึ่งจะเป็นแนวทางการเสริมสร้างประสิทธิภาพในความร่วมมือด้านแรงงานต่อไป โดยเห็นพ้องให้เร่งเจรจาเพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลง (Agreement) ว่าด้วยการจ้างงานให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

ด้านพลังงาน นายกรัฐมนตรีชื่นชมนโยบาย “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” ของลาว ซึ่งจะช่วยในการส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้ไทย และสนับสนุนความเชื่อมโยงด้านพลังงานกับลาว รวมถึงการลงทุนด้านพลังงานของภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนไทยในลาว

ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำ ไทยและลาว ในฐานะประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เห็นพ้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสองประเทศไปศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง และนำมารายงานแก่รัฐบาลของสองประเทศ เพื่อจะได้นำไปหารือแนวทางการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบกับประเทศที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับผิดชอบหลัก

ด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยและลาวถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในบริเวณพื้นที่ที่สองฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อสร้างจุดเชื่อมโยง (land link) ในภูมิภาค โดยเห็นว่า ไทยและลาวควรร่วมมือกันส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ ทั้ง hardware และ software connectivity

นอกจากนี้ ไทยให้ความสำคัญกับ CLMVT ซึ่งการเดินทางเยือนประเทศต่างๆ เพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของรองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พบว่า หลายประเทศให้ความสำคัญกับ CLMVT ในฐานะ supply chain ของอาเซียน ไทยจึงเห็นว่ากลุ่มประเทศ CLMVT ควรมีการทำยุทธศาสตร์ร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในอนุภูมิภาคนี้ โดยเน้นการสร้างความเชื่อมโยงทั้งทางถนน สะพานและรถไฟ ตลอดจน ทางเดินอากาศ เพื่อเชื่อมสู่ประเทศอื่นๆ ทั้งในอาเซียน และนอกอาเซียน อาทิ จีนและอินเดีย

ด้านการท่องเที่ยว ไทยได้ย้ำถึงนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวข้ามแดนแบบ Thailand + 1 ในลักษณะ joint tourism package และ 2 countries 1 destination ซึ่งสามารถใช้รูปแบบการพัฒนานี้เป็นแนวทางการพัฒนาพื้นที่ชายแดนอื่นไปพร้อม ๆ กันได้ ทั้งนี้ ไทยตั้งเป้าหมายให้แผนแม่บทดังกล่าวแล้วเสร็จก่อนการประชุม JC ไทย – ลาว ครั้งที่ 21

ด้านการค้า การลงทุน ทางฝ่ายลาว ได้แสดงความประสงค์ให้ไทยเข้าไปลงทุนในลาวมากขึ้น โดยเฉพาะการทำการเกษตรอินทรีย์ ที่รัฐบาลลาวให้ความสำคัญกับการเพาะปลูกโดยปราศจากสารพิษ ซึ่งไทยพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนและประสานความร่วมมือระหว่างกันอย่างใกล้ชิด

ด้านการศึกษา รัฐบาลลาวแสดงความขอบคุณไทยที่ได้มอบทุนการศึกษาและการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง พร้อมกล่าวชื่นชมโครงการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาว่า เป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือที่ช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนลาวอย่างแท้จริง

ด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา นายกรัฐมนตรีถือโอกาสนี้ ขอบคุณที่ทางการลาว น้อมนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปปฏิบัติ และช่วยเผยแพร่หลักการดังกล่าวอย่างแพร่หลาย พร้อมยึดมั่นนโยบายการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับลาวต่อไป

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีกับการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของลาว โดยไทยเชื่อมั่นว่า ลาวจะมีบทบาทที่เข้มแข็งในการนำพาสมาชิกอาเซียนไปสู่การเป็นประชาคมอย่างแท้จริง พร้อมย้ำคำเชิญนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เข้าร่วมการประชุมสุดยอด Asia Cooperation Dialogue (ACD) ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 9–10 ตุลาคม 2559 ที่กรุงเทพฯ

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือข้อราชการ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเชิญนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก่อนเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ