ไทยย้ำบทบาทหลักในการพัฒนาความเชื่อมโยงอย่างมีคุณภาพร่วมกับญี่ปุ่นในลุ่มน้ำโขง

ข่าวทั่วไป Wednesday September 7, 2016 11:39 —สำนักโฆษก

วันนี้ (7 ก.ย. 59) เวลา 18.45 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดแม่โขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 8 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

โดยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีขอบคุณญี่ปุ่นในฐานะมิตรเก่าที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับไทยมานานและในฐานะประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนประเทศลุ่มน้ำโขงอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งไทยยินดีที่ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ มีความคืบหน้าด้วยดี ซึ่งปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ ได้แก่ แนวทางการพัฒนาตามยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2015 ฉบับใหม่ และการจัดสรรงบประมาณความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการจำนวน 7.5 แสนล้านเยนจากญี่ปุ่น สำหรับการพัฒนาประเทศลุ่มน้ำโขงเป็นเวลา 3 ปี

นายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้ เน้นย้ำความมุ่งมั่นที่จะกระชับความร่วมมือกับประเทศสมาชิกบนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วน ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเข้าใจ และค่านิยมด้านวัฒนธรรมอันใกล้ชิดกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยินดีได้รับรายงานความคืบหน้าของกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นจากผู้แทนระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ที่ได้ประชุมคณะทำงานเทคนิคด้านโครงสร้างพื้นฐาน ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้มีการหารืออย่างเข้มข้นเรื่องระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกและระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ จนมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ และเชื่อว่าคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้จะขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาด้านความเชื่อมโยงในประเทศลุ่มน้ำโขงให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรม ตามข้อริเริ่มความเชื่อมโยงญี่ปุ่นกับแม่โขง

ไทยชื่นชมญี่ปุ่นที่นอกจากจะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยงแล้ว ยังเน้นย้ำการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควบคู่ไปกับการพัฒนาความเชื่อมโยงทั้งในด้านกายภาพและด้านกฎระเบียบ ซึ่งถือเป็นการสร้างความพร้อมบุคลากรให้รองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นการสร้างงานให้ประชาชนในประเทศลุ่มน้ำโขงด้วย

เรื่องความเชื่อมโยงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ความเชื่อมโยงไม่เพียงส่งเสริมการคมนาคม แต่เป็นกลไกสำคัญในการเข้าถึงผู้คนเพื่อลดช่องว่างการพัฒนาและบูรณาการลุ่มน้ำโขงเข้ากับอาเซียนและตลาดโลก เพื่อที่จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง อีกทั้งเป็นช่องทางการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ซึ่งนำไปสู่โอกาสในการพัฒนาที่มีความเท่าเทียมกันยิ่งขึ้นในอนาคต

นายกรัฐมนตรีย้ำบทบาทของไทยในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาและประเทศผู้ให้ร่วมกับญี่ปุ่นในการพัฒนาความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ที่ผ่านมา ไทยได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่น จัดการประชุมกรีนแม่โขงฟอรั่ม ครั้งที่ 4 ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเวทีในการหารือประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ไทยยังได้ร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การพัฒนาถนนหมายเลข 11 ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว การสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 โครงการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรหนองเอี่ยน สตึงบทและถนนเชื่อมไปยังถนนหมายเลข 5 ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งส่งเสริมโครงการของญี่ปุ่นที่ได้ปรับปรุงถนนสายดังกล่าว นอกจากนี้ รัฐบาลไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย อยู่ระหว่างพิจารณาโครงการเพิ่มเติมเพื่อให้ความสนับสนุนแก่เมียนมาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างเมืองเอ็งดุไปยังกรุงย่างกุ้ง

ไทยยินดีที่สำนักความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย ได้ร่วมลงนามการทำความตกลงหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเน้นความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกับข้อริเริ่มด้านความเชื่อมโยงญี่ปุ่น-แม่โขง และชื่นชมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอื่น ๆ ของไทย อาทิ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น ที่อยู่ระหว่างพิจารณาการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาเช่นเดียวกันในอนาคต เพื่อช่วยตอกย้ำบทบาทของไทยในฐานะประเทศหุ้นส่วนการพัฒนาและเป็นประเทศผู้ให้ร่วมกับญี่ปุ่น

ที่ผ่านมา ไทยร่วมมือกับญี่ปุ่นในการจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้แก่ประเทศที่สามอย่างสม่ำเสมอ ในการนี้ ไทยจึงพร้อมร่วมมือกับญี่ปุ่นในการดำเนินโครงการในรูปแบบไตรภาคี ในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการพัฒนาแก่ประเทศที่สามในลุ่มน้ำโขงในรูปแบบต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น โดยไทยพร้อมเป็นสะพานเชื่อมระหว่างญี่ปุ่นและประเทศลุ่มน้ำโขง เพื่ออำนวยความสะดวกและเอื้อให้เกิดการพัฒนาในลุ่มน้ำโขงอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีขอขอบคุณประเทศสมาชิกที่ร่วมกันมีส่วนสร้างความคืบหน้าให้แก่กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น และถือว่า ทุกประเทศเป็นมิตรแท้ และจะร่วมมือในกรอบความร่วมมือแม่โขง-ญี่ปุ่น เพื่อบรรลุเป้าหมายที่มีร่วมกันได้ในเร็ววัน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ