นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม กพย. เห็นชอบผลการจัดลำดับความสำคัญเป้าประสงค์การพัฒนาที่ยั่งยืนที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ 30 ลำดับแรก

ข่าวทั่วไป Friday December 16, 2016 14:59 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ครั้งที่ 1/59 เห็นชอบผลการจัดลำดับความสำคัญเป้าประสงค์การพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ 30 ลำดับแรกและใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 20 ปี

วันนี้ (16 ธ.ค.59) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ครั้งที่ 1/2559 โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม โดยภายหลังการประชุม นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนางสาวลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ร่วมกันแถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้

ที่ประชุม กพย. เห็นชอบผลการจัดลำดับความสำคัญเป้าประสงค์การพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ 30 ลำดับแรกและใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 20 ปี แบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา คือ ค.ศ. 2015-2017 / 2017-2030 / 2030-2037 โดยให้หน่วยงานรับผิดชอบหลัก/ร่วม และหน่วยงานสนับสนุน จัดทำ Roadmap สำหรับการขับเคลื่อนเป้าประสงค์ดังกล่าวให้ชัดเจน โดยร่วมกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ให้แล้วเสร็จภายในเวลา 4 เดือน เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป รวมทั้งมอบ สศช. ร่วมกับคณะทำงานปรับปรุงกลไกมาตรการด้านเศรษฐศาสตร์ สังคม และกฎหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ทบทวนการจัดทำข้อกฎหมายและมาตรการเสริมอื่นๆ ด้านเศรษฐศาสตร์ สังคม เพื่อให้การขับเคลื่อนสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และ SDGs ต่อไป

พร้อมกับเห็นชอบให้กระทรวง/หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักแต่ละเป้าหมาย จัดทำรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงาน เสนอ กพย. ทุกๆ 6 เดือน และเห็นชอบให้มีผู้ประสานงานหลักด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำกระทรวง (Mr./Ms. SDG) ทำหน้าที่ประสานงานเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กระทรวงรับผิดชอบ/เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานส่งรายชื่อให้ สศช. ภายใน 2 สัปดาห์ รวมทั้งการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบตัวชี้วัดทั้ง 241 ตัว

พร้อมกันนี้ กพย. ยังเห็นควรให้เพิ่มกระทรวงยุติธรรมเป็นองค์ประกอบของ กพย. เพิ่มเติม เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมาย 16 ส่งเสริมสังคมที่สงบสุข ทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมฯ และเห็นชอบให้เพิ่มผู้แทนกระทรวงคมนาคม เป็นองค์ประกอบในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพิ่มเติม

นอกจากนี้ กพย. เห็นชอบกับแผนการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2560 ของคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 3 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะอนุกรรมการส่งเสริมความเข้าใจและประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ

ในวาระเพื่อทราบ กพย .รับทราบผลการดำเนินงานตามมติ กพย. ครั้งที่ 1/2558 รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการทั้ง 3 คณะ การเข้าร่วมการติดตามและทบทวนผลการอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ในระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review-VNR) ที่นครนิวยอร์ก ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 และมติคณะรัฐมนตรีเรื่องข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 โดยมีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทาง

--------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการ กพย.)

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ