นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ จ.น่าน พบปะประชาชน-เป็นประธานสักขีพยานมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ

ข่าวทั่วไป Friday December 23, 2016 16:13 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ จ.น่าน ตรวจติดตามผลสัมฤทธิ์การบูรณาการความร่วมมือของคณะอนุฯ นโยบายที่ดิน จ.น่าน มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พร้อมพบปะประชาชน

วันนี้ (23 ธันวาคม 2559) เวลา 09.25 น. ณ จุดชมวิวบ้านน้ำป้าก ต.ตาลชุม อ.ท่าวังผา จ.น่าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามผลสัมฤทธิ์การบูรณาการความร่วมมือของคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดน่าน และพบปะประชาชนที่มารอให้การต้อนรับ พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี อาทิ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมี นายไพศาล วิมลรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ข้าราชการและประชาชนมาให้การต้อนรับ

ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านกล่าวรายงานว่า พื้นที่บ้านน้ำป้าก อ.ท่าวังผา จ.น่าน ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าน้ำยาว และน้ำสวด มีเนื้อที่รวม 17,815 ไร่ โดยประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2551 ได้เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากถล่มทั้งสองหมู่บ้าน เป็นเหตุให้ประชาชนในพื้นที่เสียชีวิตและทรัพย์สินเสียหายเป็นจำนวนมาก ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณผ่านมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้โครงการ “ปลูกป่า สร้างคน บนวิถีพอเพียง รักษาต้นน้ำ บรรเทาอุทกภัย” โดยการปลูกป่าตามแนวพระราชดำริ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทั้งป่าที่เป็นไม้กิน ไม้เศรษฐกิจ และไม้ใช้สอย โดยการให้ประชาชนมีส่วนร่วมและสามารถมีอาชีพที่ถูกกฎหมาย ซึ่งสามารถคืนพื้นที่ป่าได้ถึง 4,000 ไร่ นอกจากนี้ ประชาชนยังร่วมมือร่วมใจในการปกป้องรักษาป่าโดยการจัดขอบเขตให้มีการปักธงสี ตั้งแต่ธงสีเหลืองขึ้นไปเป็นป่าอนุรักษ์ ธงสีส้มเป็นป่าไม้กิน ไม้เศรษฐกิจ และไม้ใช้สอย ส่วนธงสีขาวเป็นพื้นที่สามารถออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (ป.ส. 23) จำนวน 5 แปลง เนื้อที่ 15,055 ไร่ มีราษฎรได้รับประโยชน์ 1,991 ครอบครัว ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

นายณรงค์ อภิชัย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคสนาม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้บรรยายสรุปโครงการปลูกป่าสร้างคนบนวิถีพอเพียง รักษาต้นน้ำ บรรเทาอุทกภัย จ.น่าน ว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดน่านตามแนวพระราชดำริ หรือโครงการปิดทองหลังพระจังหวัดน่าน ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวทางพระราชดำริ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 250,000 ไร่ ใน 20 หมู่บ้าน 4 ตำบล 3 อำเภอ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวประกอบด้วยการปรับปรุงระบบน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคและชลประทาน การส่งเสริมอาชีพด้วยการพัฒนาด้านการเกษตรและปศุสัตว์ การจัดตั้งกองทุนพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์และการแปรรูป โดยมีเป้าหมายในการ "ปลูกคน" ตามแนวพระราชดำริ "ปลูกป่า ปลูกคน" ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และการส่งเสริมให้คนอยู่ร่วมกับป่าของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ คือการปลูกป่าที่ยั่งยืนนั้นต้องทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และได้รับประโยชน์จากป่า ซึ่งนอกจากจะทำให้ชุมชนมีลูกค้าแล้วยังทำให้พวกเขาหวงแหนและรักษาป่าอีกด้วย

ภายหลังรับฟังการบรรยาย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานสักขีพยานในการมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (ป.ส. 23) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เพื่อนำไปมอบต่อให้กับราษฎรบ้านน้ำป้าก ห้วยธนู ตำบลตาลชุม อำเภอท่าวังผา และราษฎรบ้านน้ำมีด ตำบลเปือ อำเภอเชียงกลาง จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้มอบอุปกรณ์ดับไฟป่าให้กับผู้แทนเครือข่ายลุ่มน้ำสายคัวะก๋าบ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวกับประชาชนว่า การมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรือที่อยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (ป.ส.23) เป็นการจัดที่ดินให้กับชุมชนและประชาชน เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่มีความตั้งใจในการจัดสรรพื้นที่ทำกินให้มีความเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนที่มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงต้องมีการปรับพื้นที่ให้เหมาะสมอย่างเป็นธรรมและถูกกฎหมาย โดยมีพื้นที่ของการอยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ พื้นที่ป่าชุมชน และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นป่า เป็นภูเขา ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณประชากรที่เพิ่มขึ้น และพฤติกรรมของสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลง จึงทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนพื้นที่ทำกินของประชาชน ดังนั้น ภาครัฐได้เข้ามาดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาอาชีพให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง โดยต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ด้วย พร้อมทั้งขอให้ประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำมาหากินในพื้นที่ผิดกฎหมาย หยุดการกระทำ เพราะจะส่งผลเสียต่อประเทศชาติในอนาคตข้างหน้า โดยสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปสานต่อภารกิจ ออกเป็นนโยบายของกระทรวง

นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมการทำงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวทางพระราชดำริ ที่ร่วมมือกับคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ตลอดจนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงภาคประชาชน และภาคประชาสังคมที่ช่วยกันแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการที่ดินให้มีความสมดุล เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนทั้งในเรื่องการประกอบอาชีพ การอยู่อาศัยในชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ โดยไม่ทำลายธรรมชาติในพื้นที่ป่าของจังหวัด พร้อมทั้งเป็นห่วงเรื่องการใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ที่ไม่สามารถใช้พื้นที่ที่มีอยู่ทั้งหมด เพราะขาดแคลนแหล่งน้ำในการทำเพาะปลูก ซึ่งบางคนมีที่ 100 ไร่ แต่ปลูกข้าวได้ 20 ไร่ ที่เหลือทำนาไม่ได้เพราะไม่มีน้ำ โดยจะต้องแก้ไขปัญหาตรงนี้ด้วย พร้อมแนะให้หน่วยงานในพื้นที่ร่วมกันบูรณาการการจัดระยะเวลาให้ประชาชนมีพื้นที่ทำกิน รวมถึงแนวทางการอนุรักษ์ป่าไม้ให้ยั่งยืน และทำความเข้าใจในสภาพภูมิศาสตร์พื้นที่ให้ลึกซึ้ง เข้าใจปัญหาของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะจังหวัดน่านมีพื้นที่ป่าไม้และธรรมชาติที่สำคัญ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของระบบนิเวศของประเทศ เพราะส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยามาจากป่าต้นน้ำน่านเป็นที่มาของแหล่งน้ำกว่าร้อยละ 45 ที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้นความมั่นคงของป่าต้นน้ำน่านจึงมีผลกระทบตามวิถีชีวิตชุมชนทั้งหมด อีกทั้ง การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด เพราะเมื่อมีป่าที่สมบูรณ์ มีน้ำที่สมดุล ก็จะมีชีวิตที่มีความสุข

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เดิมอยู่แล้ว แต่ภายหลังมีการปรับเปลี่ยนของภาครัฐเพื่อจะเข้าดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีความสมบูรณ์ ซึ่งมีความสำคัญต่อประชาชนและประเทศชาติในระยะยาว ดังนั้นภาครัฐและภาคประชาชนต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และพยายามปรับวิธีเพื่อให้เกิดผลกระทบให้น้อยที่สุด ตามแนวทางนโยบายประชารัฐของรัฐบาล ด้วยการสร้างความเข้าใจในทุกภาคส่วน การจัดระเบียบคนและพื้นที่ให้เหมาะสม การป้องกันและรักษาป่าอย่างครอบคลุม การฟื้นฟูระบบนิเวศให้สมดุล การพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชน ตลอดจนการสร้างองค์ความรู้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยใช้พลังความเข้มแข็งของชาวจังหวัดน่านในการรวมตัวกันเพื่อพัฒนาและรักษาธรรมชาติของจังหวัด ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบที่จะทำให้น่านเติบโตแข็งแรงอย่างยั่งยืน

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้นำแนวคิด “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ได้พระราชทานไว้กว่า 40 ปีที่ผ่านมา ให้ประชาชนชาวไทยนำไปเป็นแนวทางการพัฒนาตนเองและครอบครัว ให้มีภูมิคุ้มกันที่มั่นคง ในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข พร้อมแนะนำการปลูกพืชการเกษตรของแต่ละพื้นที่มาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ทันสมัย ให้มีการใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง เพิ่มมูลค่าให้สินค้า สร้างรายได้ให้กับประเทศ และวางแนวทางการพัฒนาประเทศในอนาคต ไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน พร้อมทั้งเดินหน้าประเทศไทยตามแนวทางประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ตามหลักสากล

จากนั้น นายกรัฐมนตรีเดินทักทายประชาชนที่มารอให้การต้อนรับ พร้อมรับฟังการขับร้องเพลงต้นไม้ของพ่อ จากนักเรียนโรงเรียนสารธรรมวิทยาคาร พร้อมมอบต้นยางนา 1 ต้น ให้แก่ตัวแทนนักเรียนนำไปปลูก โดยผู้อำนวยการโรงเรียนสารธรรมวิทยาคารได้มอบผลผลิตทางการเกษตรที่ได้จากการผลิตในพื้นที่กับนายกรัฐมนตรีด้วย ก่อนที่นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางไปบ้านห้วยส้มป่อยเพื่อพบหารือกับภาคประชาสังคมและผู้นำชุมชนท้องถิ่นของจังหวัดน่าน

-------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ