นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมพื้นที่ จ.นราธิวาส พร้อมมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อ.ระแงะ

ข่าวทั่วไป Friday January 6, 2017 14:33 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส

วันนี้ (6 ม.ค.60) เวลา 14.15 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พลเอก อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ฯลฯ ได้เดินทางไปยังที่ว่าการอำเภอระแงะ ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เพื่อตรวจเยี่ยมติดตามสถานการณ์ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ พร้อมพบปะเยี่ยมเยียนให้กำลังใจประชาชนและมอบถุงยังชีพซึ่งบรรจุเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 2,000 ชุด รวมทั้งเรือท้องแบนจำนวนหนึ่ง โดยมี นายสิทธิชัย ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายอรุณ ศรีใส นายอำเภอระแงะ หัวหน้าส่วนในระดับอำเภอระแงะ เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาส ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ

สำหรับจังหวัดนราธิวาส ประกอบด้วย 13 อำเภอ (อ.เมืองนราธิวาส อ.ยี่งอ อ.บาเจาะ อ.รือเสาะ อ.ศรีนคร อ.ระแงะ อ.สุไหงปาดี อ.สุไหงโก-ลก อ.แว้ง อ.สุคิริน อ.จะแนะ อ.เจาะไอร้อง อ.ตากใบ) โดยเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ที่เป็นจังหวัดชายแดนใต้สุดของประเทศไทย มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาเลเชีย ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลตะวันออกของแหลมมลายู มีเนื้อที่ประมาณ 4,475.43 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้และภูเขา 2 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดมีป่าพรุประมาณ 361,860 ไร่ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จรดทิวเขาสันกาลาคีรีซึ่งเป็นแนวกั้นพรมแดนไทย-มาเลเชีย ลักษณะพื้นที่จะมีความลาดเอียงจากทิศตะวันตกไปสู่ทิศตะวันออก พื้นที่ราบส่วนใหญ่อยู่บริเวณติดอ่าวไทยและที่ราบลุ่มบริเวณแม่น้ำ 4 สาย คือ แม่น้ำบางนรา แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำตากใบ และแม่น้ำโก-ลก มีประชากร จำนวน 717,366 คน นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 83 นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 16.54 และนับถือศาสนาอื่น ๆ ร้อยละ 0.56 โดยจังหวัดนราธิวาสมีศูนย์กลางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และอุตสาหกรรมอยู่ที่อำเภอสุไหงโก-ลก

ส่วนสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยส่งผลให้มีฝนตกหนักในช่วงวันที่ 1-3 ธันวาคม 2559 และวันที่ 20 ธันวาคม - 22 ธันวาคม 2559 รวมทั้งวันที่ 30 ธันวาคม 2559 - 3 มกราคม 2560 ทำให้เกิดอุทกภัยเป็นวงกว้างครอบคลุมพื้นที่ 13 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะอำเภอที่มีพื้นที่ติดกับแม่น้ำสายหลักคือ แม่น้ำโก-ลก แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำสายบุรี ทั้งนี้ในส่วนของอำเภอระแงะ ซึ่งมีพื้นที่ 7 ตำบล 61 หมู่บ้าน ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยทั้งหมด โดยมีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 2,276 ครัวเรือน จำนวน 9,528 คน พื้นที่การเกษตรและปศุสัตว์เสียหายจำนวนหนึ่ง รวมทั้งส่งผลกระทบต่อเส้นทางคมนาคม และสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ ทั้งนี้จังหวัดนราธิวาสได้ประกาศให้อำเภอระแงะเป็นพื้นที่ประสบภัยฉุกเฉินทั้งอำเภอ การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นในระหว่างเกิดเหตุได้มีการตั้งศูนย์อำนวยการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยบูรณาการทุกภาคส่วนที่มีความพร้อมในการกู้ภัย อาทิ ทีมกู้ภัย ทีมสนับสนุน ทีมแพทย์ ทีมบำบัดฟื้นฟู ระดมเครื่องมือจากรัฐและภาคเอกชน เช่น เรือท้องแบน เรือไฟบอร์กลาส รถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าช่วยเหลือในการขนส่งคมนาคมของประชาชน รวมทั้งมีการแจกจ่ายถุงยังชีพ จำนวน 9,850 ชุด อย่างไรก็ตามสถานการณ์อุทกภัยได้เริ่มคลี่คลายแล้วตั้งแต่ในวันที่ 4 และ 5 มกราคม 2560 เนื่องจากฝนตกน้อยลง รวมถึงบางหมู่บ้านมีการขุดลอกคูคลองทำให้น้ำระบายได้รวดเร็วขึ้น สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาวควรมีการขุดลอกคลองตันหยงมัสซึ่งเป็นคลองหัวใจหลักของอำเภอระแงะ ในการระบายน้ำบางส่วนมีความตื้นเขินทำให้น้ำไหลช้าจึงควรให้มีมาตรการขุดลอกคูคลองดังกล่าวในจุดที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายได้มากขึ้น

นอกจากนี้ จังหวัดนราธิวาสได้มอบหมายให้ส่วนราชการ อำเภอ และหน่วยงานต่าง ๆ บูรณาการสรรพกำลังฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร สมาชิก อปพร. เร่งให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบอุทกภัยโดยทันที โดยเน้นเรื่องการดำรงชีพและความปลอดภัยเป็นอันดับแรก รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้มอบอำนาจเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดให้กับนายอำเภอทุกอำเภอ จำนวน 2 ครั้ง รวมเป็นวงเงิน อำเภอละ 800,000 บาท โดยเน้นย้ำให้นายอำเภอใช้สำหรับแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ ขณะเดียวกันยังได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกต่าง ๆ เช่น มูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ ) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้มอบถุงยังชีพพระราชทาน จำนวน 1,600 ชุด ในพื้นที่อำเภอระแงะ และอำเภอรือเสาะ รวมถึงจังหวัดนราธิวาสขอรับการสนับสนุนสิ่งของพระราชทานจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 4,100 ชุด เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัยในพื้นที่อำเภอแว้ง อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอสุไหงปาดี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สนับสนุนถุงยังชีพแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 13 อำเภอของนราธิวาส จำนวน 10,000 ชุด เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ 20 ลำ และพร้อมสนับสนุนเพิ่มเติมอีกหากได้รับการร้องขอ หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ไดัจัดตั้งครัวสนาม จำนวน 2 ชุด เพื่อประกอบอาหารแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่อำเภอรือเสาะและอำเภอสุไหงโก-ลก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสและอาสาสมัครสาธารสุข ลงพื้นที่แจกจ่ายเวชภัณฑ์ ยาสามัญประจำบ้าน พร้อมจัดทีมแพทย์ตรวจเยี่ยมและให้คำแนะนำในพื้นที่ประสบภัย ตลอดจนประชาสัมพันธ์จังหวัดนราธิวาสและสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยสุไหงโก-ลก เป็นแม่ข่ายในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ข่าวสารระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐในการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ เป็นไปอย่างทันท่วงที เป็นต้น

โอกาสนี้นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงความห่วงใยต่อประชาชนที่ประสบอุทกภัยและรับทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เป็นอย่างดี โดยวันนี้คณะรัฐมนตรีและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะมาร่วมกันคิดและดำเนินการในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อนดังกล่าวของประชาชน อย่างไรก็ตามรัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลประชาชนทั้งประเทศทุกเรื่อง ไม่เฉพาะในส่วนของภาคใต้เท่านั้น ทั้งงานด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม จึงขอให้ทุกคนร่วมกันคิดที่จะทำให้ประเทศมีความสงบสุข ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับสั่งอยู่เสมอว่าคนใต้เป็นคนที่น่ารัก มีฝีมือและอดทนต่อความยากลำบาก รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงห่วงใยประชาชนที่ประสบอุทกภัยและประชาชนทุกคน ทรงรับสั่งเสมอมาให้รัฐบาลเสริมสร้างความเข้มแข็ง ดูแลทุกข์สุขของประชาชนให้มากที่สุด โดยน้อมนำแนวทางทรงงานและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมให้ได้

พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาสว่า นอกจากตั้งใจที่จะมาให้กำลังใจและช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบอุทกภัย ยังได้มาประชุมติดตามงานด้านความมั่นคงและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยต้องการพัฒนาภาคใต้ให้เท่าเทียมพื้นที่ภูมิภาคอื่นของประเทศให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลได้เร่งรัดจัดทำโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ใน พื้นที่ 3 แห่ง ทั้ง อ.หนองจิก จังหวัดปัตตานี อ.สุไหงโก - ลก จังหวัดนราธิวาส และ อ.เบตง จังหวัดยะลา ให้มีความเชื่อมโยงถึงกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ในวงกว้าง โดยมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การคมนาคมขนส่ง รวมทั้งส่งเสริมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความเจริญก้าวหน้าทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม นำไปสู่สันติสุขอย่างยั่งยืนในอนาคต

พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้ประชาชนชาวอิสลามในพื้นที่ภาคใต้สนับสนุนส่งเสริมให้บุตรหลานได้รับการศึกษาในสายสามัญให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มพูนความรู้ในการที่จะสร้างอนาคตให้กับตนเองและพัฒนาประเทศชาติต่อไป ป้องกันการถูกชักจูงไปในทางที่ผิดที่จะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งและความไม่สงบ ซึ่งรัฐบาลเน้นการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีไปสู่สันติสุข โดยเน้นย้ำให้ประชาชนทุกคนอยู่ร่วมกันบนความคิดเห็นที่แตกต่างให้ได้ โดยเฉพาะความคิดเห็นที่แตกต่างทางด้านการเมือง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยตามหลักสากล และอยู่บนหลักธรรมาภิบาล รวมทั้งขอให้ประชาชนในพื้นที่รวมกลุ่มกันดำเนินการในเรื่องการพัฒนาอาชีพรายได้ต่าง ๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป การทำประมง ปศุสัตว์ การท่องเที่ยว การพัฒนาผลิตภัณ์โอทอปในท้องถิ่นให้สวยงามน่าสนใจและหลากหลายรูปแบบ การแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าและรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น การปรับตัวอยู่กับธรรมชาติให้ได้และให้เกิดความสมดุล ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดคุ้มค่าและเป็นธรรม รวมไปถึงการบริหารจัดการที่ดินซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการจัดหาที่ดินให้ประชาชนได้มีที่ทำกินเป็นของตนเองอย่างถูกกฎหมาย โดยห้ามขายต่อให้บุคคลอื่นเพื่อป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกทำลายป่าอีก

พร้อมกับขอให้ประชาชนทุกคนร่วมมือกันสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่เข้มแข็ง เริ่มจากเศรษฐกิจระดับฐานรากมาสู่เศรษฐกิจระดับกลางและเศรษฐกิจระดับประเทศ ก่อนขยายไปสู่เศรษฐกิจต่างประเทศ รองรับการก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาขับเคลื่อนในการพัฒนาประเทศให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดังนั้นอย่าให้การทุ่มเททำงานที่ผ่านมา 2 ปี ของรัฐบาลสูญเปล่า อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนประเทศที่จะก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 จะไม่มีการทิ้งประชาชนกลุ่มใดไว้ข้างหลัง ทั้งที่เป็น 1.0 2.0 และ 3.0 แต่เป็นการก้าวไปพร้อมกันโดยมีการปรับและพัฒนาในแต่ละดับขึ้นมาจาก 1.0 เป็น 2.0 และจาก 2.0 พัฒนาเป็น 3.0 ก่อนพัฒนาก้าวไปสู่ 4.0 ตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมทั้งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนงบประมาณในการขุดลอกคูคลองตามที่อำเภอระแงะเสนอ เพื่อให้การระบายน้ำในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยาวในพื้นที่อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้หน่วยงานและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้มีการพิจารณาดำเนินการบริหารจัดการพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะพลังงานทางเลือกหรือพลังงานทดแทนต่าง ๆ อาทิ ถ่านหิน ฟอสซิล ฯลฯ เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ รวมทั้งการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีระบบและมีประทธิภาพ เช่น การนำมาผลิตเป็นพลังงาน เป็นต้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดในการที่จะเป็นสะพานให้กับประชาชนเพื่อก้าวข้ามผ่านปัญหาต่าง ๆ ไปสู่สิ่งที่ดีและสามารถขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าให้ได้โดยยึดถือความสุขและประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ

------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ