รอง นรม. พลเรือเอก ณรงค์ เน้นแนวทางการป้องกันและติดตามผลกระทบจากสารเคมี เพื่อความปลอดภัยทางด้านอาหาร

ข่าวทั่วไป Friday February 17, 2017 14:41 —สำนักโฆษก

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2560) พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการสารเคมี ครั้งที่ 1 / 2560 ซึ่งมีผลของการประชุมสรุปสาระสำคัญดังนี้

ที่ประชุมฯ รับทราบความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมต่อการให้ภาคยานุวัติอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท สืบเนื่องมาจากกรมควบคุมมลพิษ ได้มีการนำเสนอแผนการเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท ซึ่งปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายเพื่อรองรับพันธกิจของอนุสัญญามินามาตะฯ เพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะ โดยได้เล็งเห็นถึงข้อดีมากกว่าข้อเสีย ที่จะเป็นประโยชน์ให้กับประชาชนคนไทยในอนาคต

สำหรับโรคมินามาตะ เป็นโรคที่เกิดจากพิษจากสารปรอท โดยมีอาการของเด็กขาดสารอาหาร มีอาการวิกลจริตอย่างอ่อน ๆ กรีดร้อง นัยน์ตาดำขยายกว้างเล็กน้อย ลิ้นแห้ง แต่ไม่พบสาเหตุของการผิดปกติ แขนขาเคลื่อนไหวลำบาก มีการกระตุกตัวแข็ง แขนขาบิดงออย่างรุนแรง เพราะโรคนี้แสดงผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งโรคดังกล่าวได้ถูกค้นพบครั้งแรกที่เมืองมินามาตะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 โดยเกิดจากการทิ้งน้ำเสียที่มีสารปรอทเจือปนออกมา ทางคณะกรรมการฯ จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญ เกี่ยวกับสุขภาพของประชาชน จึงได้รับทราบและเห็นชอบในการเข้าร่วมภาคีอนุสัญญาฯ เพื่อนำแนวทางการป้องกันโรคดังกล่าว มาเป็นแนวทางในการออกกฏหมายพระราชบัญญัติในการห้ามการผลิตและห้ามการนำเข้าสารปรอท โดยมีเป้าหมายในการยกเลิกการผลิตตลอดทั่วทั้งประเทศให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2568 เพื่อนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบในการเสนอการจัดทำร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยจากการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ตามยุทธศาสตร์ที่ 3 ของแผน 12 กำหนดให้ปรับปรุงกฎหมายสารเคมีการเกษตรให้ทันสมัย และควบคุมการใช้สารเคมีการเกษตรที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างเคร่งครัด เนื่องมาจากปัญหาสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ในอัตราที่สูง ระดับความเสี่ยงของสารเคมีตกค้างในหมู่เกษตรกรและผู้บริโภค และสาเหตุสำคัญ จากข้อจำกัดที่กฎหมายรวมศูนย์การจัดการสารเคมีทุกประเภท จึงจำเป็นจะต้องมีการจัดการสารเคมีที่ต้นทาง ระบบข้อมูลที่เชื่อมอยู่ตลอดห่วงโซ่ และมีส่วนร่วมกันของทุกภาคส่วน ตั้งเจตนารมย์ในการคุ้มครองสุขภาพประชาชนให้ได้บริโภคอาหารและอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย โดยเน้นในหลักการการป้องกันและสร้างการรับรู้ให้เข้าใจอย่างถูกต้องกับทุกภาคส่วน สอดคล้องตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยความมั่นคงทางด้านอาหาร ที่ประชุมฯ จึงมีมติ มอบหมายให้เลขาฯ ที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว ศึกษารายละเอียด และแนวทางการดำเนินงานควบคุมการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อนำมาเสนอในที่ประชุมฯ พิจารณาให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2560 นี้ ทั้งหมดนี้ จะเป็นการดำเนินงานเพื่อการการขับเคลื่อนการคุ้มครองและปกป้องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมของคนในประเทศไทย ตามยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี ที่จะพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยังยืน ต่อไป

-------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ