คกก.นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ มีมติใช้ 5 มาตรการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายปลอดเหล้า ช่วงเทศกาลสงกรานต์

ข่าวทั่วไป Friday March 17, 2017 16:08 —สำนักโฆษก

พลเรือเอก ณรงค์ฯ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่ประชุมมีมติใช้ 5 มาตรการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายปลอดเหล้าช่วงเทศกาลสงกรานต์เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน

วันนี้ (17 มี.ค.60) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมประยูร ภมรมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายโสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุมด้วย

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผย ว่า วันนี้ที่ประชุมได้มีการรับทราบประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา พ.ศ. 2558 ประกาศในราชกิจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2558 และมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2558 โดย ข้อ 1 ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาหรือหอพักบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา ตามข้อ 6 วรรคหนึ่ง แห่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2558 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ

อย่างไรก็ตามกรณีคำว่าบริเวณ “ใกล้เคียง” สถานศึกษา นั้น ให้พิจารณาดำเนินการตามสภาพความเป็นจริงของแต่ละพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการของแต่ละจังหวัดซึ่งประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามความเหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการกำหนดควบคุมสถานสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา โดยการออกตรวจสถานบริการและสถานประกอบการ ในช่วงต้นพบมีการกระทำผิดกฎหมายอยู่บ้าง แต่ภายหลังสถานบริการดังกล่าวมีการปรับตัวจึงพบกระทำความผิดลดลง ส่วนที่พบมีการลักลอกเปิดอยู่บ้างนั้น เช่น การเปิดร้านใหม่ในพื้นที่ห้ามหรือร้านเก่าที่ถูกปิดพยายามมาเปิดใหม่อีกครั้ง เจ้าหน้าที่ก็ได้มีการเข้าไปตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้ง ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2560 ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเข้มงวดมากขึ้นและเกิดผลเป็นรูปธรรมในการลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2555 – 2559 พบผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจาการจราจรทางถนน 137,385 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 44,590 คน คิดเป็นร้อยละ 32.5 โดยการบาดเจ็บและเสียชีวิตในวันที่ 13 เมษายน เป็นกลุ่มเยาชนอายุ 15 – 19 ปี ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้มีมติใช้ 5 มาตรการ เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายปลอดเหล้าช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยความร่วมมือของทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดำเนินการ ดังนี้ 1) ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง ในขณะขับขี่หรือโดยสารอยู่ในรถ หรือบนรถ 2) ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ 3) ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลาที่กฎหมายกำหนด (เวลาที่ขายได้ ตั้งแต่เวลา 11.00 – 14.00 น. และตั้งแต่เวลา 17.00 – 24.00 น.) 4) มุ่งเน้นเฝ้าระวัง ตรวจเตือน ประชาสัมพันธ์กฎหมาย เน้นจังหวัดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ พร้อมตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนบุหรี่และสุรา หากพบทำผิดแจ้งเรื่องได้ที่สายด่วน 1422 หรือ 02-590-3342 และ 5) เฝ้าระวังรายงานการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากพิษภัยแอลกอฮอล์ โดยขอความร่วมมือโรงพยาบาลทุกแห่งในการแจ้งเหตุผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจรทางถนนที่เกี่ยวเนื่องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ไปยังศูนย์จังหวัดโดยเน้นผู้ประสบอุบัติเหตุที่เป็นบุคคลอายุไม่เกิน 20 ปี เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปสืบสวนหาผู้กระทำความผิดและดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ พ.ศ. 2560 – 2563 และกลไกการขับเคลื่อน ติดตามประเมินผลการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการต่อไปอย่างเข้มแข็ง เพื่อควบคุมและลดปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์ของสังคม ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ลดความเสี่ยงที่เกิดจากการบริโภค เช่น อุบัติเหตุ และป้องกันความรุนแรงที่เกิดจากการบริโภค ขณะเดียวกันที่ประชุมเห็นชอบชุดข้อแนะนำสำหรับผู้ไม่สมควรดื่มสุรา ได้แก่ เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ หญิงเลี้ยงลูกด้วยนม ผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะ ผู้ที่ทำงานกับเครื่องจักรกลหรือเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวและประชาชนทุกเพศทุกวัย เป็นต้น

-----------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ