นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นำคณะองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจำนวน 30 องค์กร มาพบนายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

ข่าวทั่วไป Tuesday May 2, 2017 15:35 —สำนักโฆษก

นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นำคณะองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจำนวน 30 องค์กร มาพบนายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก
วันนี้ (2 พฤษภาคม 2560) เวลา 8.45 น. ณ บริเวณด้านหน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นำคณะองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจำนวน 30 องค์กร มาพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก พร้อมส่งจดหมายเปิดผนึกคัดค้านและขอให้ยกเลิกร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ตามที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบร่างดังกล่าว

โอกาสนี้ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวรายงานว่า ตามที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ซึ่งแม้ว่าจะมีการยกเลิกเรื่องใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อและบทลงโทษกรณีไม่มีใบอนุญาตไปแล้ว แต่ทางองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนกว่า 30 องค์กร เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว เป็นกฎหมายที่ยังเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการเสรีภาพและความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังขัดแย้งกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญในหลายมาตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเนื้อหาสำคัญของกฎหมายที่เปิดโอกาสให้มีการเข้าควบคุม และแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน ร่วมถึงลดทอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนและประชาชน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และอาจส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวางได้ในอนาคต

ทั้งนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 30 องค์กร จึงมีความเห็นร่วมกันในการคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวนี้ โดยขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจที่มีอยู่ยับยั้งร่าง พ.ร.บ.ฉบับฯ และเปิดโอกาสให้สื่อได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง

จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวนี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะต้องการเข้ามาควบคุมหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการเพิ่มกรอบกติกาให้มากขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้าประเด็นใดไม่เหมาะสมรัฐบาลก็ยินดีไม่ดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ. เพราะว่ารัฐบาลเข้าใจมุมมองของสื่อมวลชนดังกล่าวที่มายื่นจดหมายเปิดผนึกในวันนี้ เพราะมีหลายประเด็นในร่าง พ.ร.บ. ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ โดยเป็นการเสนอความคิดในคนละมุมมอง แต่รัฐบาลมีจุดมุ่งหมายในการเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศในภาพรวม โดยไม่ได้เข้ามาเพื่อสร้างปัญหาและรัฐบาลก็ไม่ได้อยู่ตลอดไป ในอนาคตก็ต้องมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา จึงขอฝากให้ทุกคนช่วยพิจารณากันแก้ไขปัญหาร่วมกัน

อนึ่ง ข้อเรียกร้องของทางองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนกว่า 30 องค์กรนั้น ขอให้ยับยั้งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ซึ่งทางรัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่ และในช่วงนี้มีแนวความคิดอีกทางหนึ่งที่จะให้สมาคมสื่อต่าง ๆ ควบคุมดูแลกันเอง แต่ก็ต้องถามกลับไปว่าจะควบคุมดูแลกันได้หรือไม่เพียงใด โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำว่าสื่อในปัจจุบันมีอิสระ แต่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เพียงต้องการตีกรอบเพิ่มขึ้น แต่ก็ยอมรับว่ามีในหลายประเด็นที่ไม่ดีและยังแก้ปัญหาไม่ได้ โดยทางรัฐบาลจะเสนอแนวความคิดดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่วมกัน

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำถึงสื่อมวลชนและประชาชนว่า ประเทศไทยเป็นของคนไทยทุกคน จึงขอให้ทุกภาคส่วนมีบทบาทร่วมกันในการช่วยกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมเพื่อนำพาชาติบ้านเมืองก้าวไปข้างหน้า

****************************************

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ