นายกรัฐมนตรีระบุไทยแลนด์ 4.0 เป็นนโยบายวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว และเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Friday May 5, 2017 14:06 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถา เรื่อง “บทบาทของมหาวิทยาลัยไทยต่อ Thailand 4.0” เพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว ขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนต่อไป

วันนี้ (5 พฤษภาคม 2560) เวลา 09.00 น. ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถา เรื่อง “บทบาทของมหาวิทยาลัยไทยต่อ Thailand 4.0” โดยมี รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณะอาจารย์ บุคลากร นิสิต นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมรับฟัง

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ไทยแลนด์ 4.0 เกิดจากการที่โลกในศตวรรษที่ 21 มีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างจากโลกในศตวรรษที่ 20 เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านของโครงสร้าง และเป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากทั้งในด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี การใช้ชีวิตของคนในสังคมยุคใหม่ อีกทั้งเป็นโลกที่มีความหลากหลายในเรื่องของมิติ ทั้งในด้านธรรมชาติ การเมืองเศรษฐกิจ และสังคม ส่งผลให้เกิดทั้งโอกาสและภัยคุกคามขึ้น ซึ่งประเทศไทยต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว คือ "เมื่อโลกเปลี่ยนไทยจึงต้องปรับ"

สำหรับโมเดล ไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาลต้องการให้เกิดการขับเคลื่อนยุค 1.0 ซึ่งเป็นยุคของการทำการเกษตรและงานหัตถกรรม ไปยุค 2.0 เป็นยุคที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมเบา และ 2.0 ไปยุค 3.0 เป็นยุคอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อน เน้นการส่งเสริมการส่งออกและสนับสนุนการลงทุน การนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ หลอมรวมกันเพื่อก้าวไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีแนวคิดสำคัญคือ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมโยงไทยสู่ประชาคมโลก เปลี่ยนกระบวนการพัฒนาประเทศจากการปักชำ ไปสู่การสร้างรากแก้วโดยปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่เคยพึ่งพาเทคโนโลยีจากภายนอกเป็นหลักไปสู่การพึ่งพาตนเองโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยเริ่มจากรากฐานที่สำคัญคือการสร้างคนสู่การเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพเป็นสังคมอุดมปัญญา และเมื่อคนไทยมีคุณภาพก็จะนำไปสู่การสร้างวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ยกระดับเกษตรกรแบบดั้งเดิมสู่เกษตรกรสมัยใหม่ ยกระดับ SMEs แบบดั้งเดิมสู่ SMEs ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม สร้างธุรกิจบริการแบบดั้งเดิมสู่ธุรกิจบริการมูลค่าสูง เปลี่ยนคนที่มีความคิดสู่การเป็น start up ที่สร้างมูลค่าทางธุรกิจ ทั้งนี้ ไทยแลนด์ 4.0 จึงเป็นโมเดลที่ตอบโจทย์ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผ่านการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศก้าวไปสู่ประทศที่พัฒนาแล้วภายใน 20 ปี ข้างหน้า

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงมหาวิทยาลัยมหิดลว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมกับการพัฒนาและสร้างสรรค์สังคมไทยมาเป็นเวลายาวนาน ทั้งในด้านวิชาการ และในด้านอื่น ๆ พร้อมกล่าวว่าในอนาคตอยากเห็นมหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสำคัญและมีบทบาทดังต่อไปนี้ คือ 1. นำการพัฒนาและเปิดโอกาสการเรียนรู้ สร้างความเท่าเทียมในการเข้ารับการศึกษา เพิ่มทุนการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ รวมทั้งปรับเกณฑ์อายุของนักศึกษาเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 2. ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนให้ทันกับยุคสมัยของศตวรรษที่ 21 และยุคสมัยที่มีความเจริญทางด้านดิจิทัล 3. การสร้างความสามัคคี และการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในหลาย ๆ เรื่อง เช่น การโอนย้ายหน่วยกิตหรือการโอนเกรดระหว่างมหาวิทยาลัย การทำวิจัย สร้างนวัตกรรม สร้างเครือข่ายในการทำงาน 4. เน้นจุดแข็งของมหาวิทยาลัย และส่งเสริมให้เกิดความเป็นเลิศในสาขาวิชาต่าง ๆ 5. การบริหารงานอย่างโปร่งใส ลดความซ้ำซ้อน 6. การวิจัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างนวัตกรรมที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศ 7. สร้างสถาบันการศึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ และ 8.พัฒนาคุณภาพส่งเสริมความรู้ด้านภาษาที่ 2 และภาษาที่ 3 เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมเป็นต้นทุนมนุษย์ในทุกๆ ด้าน

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำถึงกระบวนทัศน์ในการพัฒนาประเทศภายใต้ประเทศไทย 4.0 ว่า เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่จะเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว และเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาล พร้อมขอให้สถาบันอุดมศึกษาได้ร่วมแรงรวมใจกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และช่วยกันสร้างหลักคิดที่ถูกต้องให้กับคนไทยต่อไป

----------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ